เอาคืน!! ‘แพรรี่ ไพรวัลย์’ พร้อม ‘ทนายเกิดผล’ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายกสภาทนายความฯ สอบมารยาท "ธรรมราช" เหยียดหยามเพศสภาพ
แพรรี่ร้องสภาทนายฯให้สอบมารยาท "ธรรมราช" เหยียดหยามเพศสภาพ


‘แพรรี่ ไพรวัลย์’ พร้อม ‘ทนายเกิดผล’ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายกสภาทนายความฯ ให้ตรวจสอบมรรยาททนายความ หลังถูกทนายธรรมราชพาดพิงเหยียดหยามเรื่องเพศสภาพ
.
วันที่ 29 ก.ย. 65 สืบเนื่องจาก กรณี พระชาตรี เจ้าอาวาสวัดพุทธวิหาร วัดไทยแห่งเดียวใน นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ออกมาไลฟ์พาดพิงถึง นายไพรวัลย์ วรรณบุตร หรือ ‘แพรรี่’ จนนายไพรวัลย์ได้ไลฟ์ตอบโต้ไป ทำให้นายธรรมราช สาระปัญญา หรือ ‘ทนายธรรมราช’ เข้าแจ้งความเอาผิดนายไพรวัลย์ในข้อหาดูหมิ่นพระชาตรี หรือคณะสงฆ์ ทำให้คณะสงฆ์ได้รับความเสื่อมเสียและเสียหายตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
.
ล่าสุดวันนี้นายไพรวัลย์พร้อมด้วย ทนายเกิดผล แก้วเกิด เดินทางมายังสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน กับ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้มีการตรวจสอบมรรยาททนายความของทนายธรรมราช โดยนายไพรวัลย์ เปิดเผยว่า ในประเด็นที่พระชาตรี พาดพิงถึงตนนั้น พระชาตรีได้มีการขอโทษตนแล้ว ซึ่งตนไม่ได้ติดใจอะไร ยังสามารถคุยกันได้ พร้อมยืนยันว่าข้อพิพาทระหว่างตน กับพระชาตรี จบไปตั้งแต่วันที่ไลฟ์ตอบโต้แล้ว
.
แต่ในส่วนของ ทนายธรรมราช นั้น ยังคงพยายามหาช่องทางให้พระชาตรีดำเนินการฟ้องร้องตนให้ได้ และสิ่งที่ตนรับไม่ได้ คือการพูดพาดพิงถึงเรื่องเพศสภาพ เหยียดหยาม ล้อเลียนแม้ว่าจะไม่ได้กล่าวชื่อแต่คนก็สามารถรู้ได้ว่าเป็นตน ทำให้รู้สึกว่าตนเสื่อมเสียเกียรติ และถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี จึงเดินทางมาร้องเรียนสภาทนายความฯ ให้ตรวจสอบมรรยาททนายความ ว่าสมควรหรือไม่ กับการที่คนเป็นนักกฎหมาย มีการวิพากษ์วิจารณ์ พาดพิงถึงเรื่องเพศสภาพ
.
ทั้งนี้ตนยังมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับความเป็นธรรม แต่ท้ายที่สุดแล้วบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของทางสภาทนายความเป็นผู้ตัดสิน หลังจากนี้ก็จะดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
.
ส่วนเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์นั้น ตนยังคงมองว่าทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ไม่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา
.
ด้านทนายเกิดผล แก้วเกิด เปิดเผยว่า ในฐานะของนักกฎหมายคนหนึ่ง ตนเป็นอีกคนที่แสดงความคิดเห็นในกรณีดังกล่าว มีการพูดถึงเรื่อง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 44 ซึ่งตามหลักแล้ว นักกฏหมายสามารถแสดงความคิดเห็นในมุมมองทางด้านกฎหมายได้ แต่ปรากฏว่าทนายธรรมราชได้นำรูปภาพที่ตนแสดงความคิดเห็นนั้น ไปโพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว และระบุข้อความในลักษณะว่า เป็นเพราะตีความแบบนี้ถึงป่วยเป็นโรคไตเสื่อม
.
ตนมองว่าทนายธรรมราช ไม่ควรนำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย เช่น เรื่องเพศสภาพ เรื่องอาการป่วยมาพูด ส่วนตัวมองว่าทนายธรรมราชไม่มีวุฒิภาวะที่มากพอ ตนจึงนำเรื่องดังกล่าวมาร้องเรียนต่อสภาทนายความฯ ว่าการใช้คำพูดส่อเสียด ด่าทอ เหยียดหยาม ของคนเป็นทนายความนั้นเป็นการผิดมรรยาททนายความหรือไม่
.
ขณะที่ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว พร้อมเปิดเผยว่า สภาทนายความมีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมยืนยัน จะยึดมั่นในหลักกฎหมาย และความถูกต้อง
.
ส่วนในประเด็นร้องเรียนเรื่องมรรยาททนายความของทนายธรรมราช นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน เพื่อตรวจสอบดูว่าผิดหรือไม่ ซึ่งจะมีคณะกรรมการมรรยาททนายความเป็นผู้ตรวจสอบ และสอบสวน เพื่อพิจารณาบทลงโทษ
.
ในส่วนของบทลงโทษจะมีด้วยกัน 4 ระดับ คือ 1. ตักเตือน / 2. ภาคทัณฑ์ / 3. พักใบอนุญาตทนายความ 3 ปี / และ 4. ถอดถอนชื่อออกจากการเป็นทนายความ ทั้งนี้ แม้ว่านักกฎหมายจะสามารถแสดงความคิดเห็นด้านกฎหมายได้นั้น แต่ก็ต้องตระหนักด้วยว่าจะเป็นการผิดมรรยาททนายความหรือไม่