อุบลราชธานีต้นแบบปลูกมะพร้าวน้ำหอมสู้ดินเค็มรสชาติหอมหวาน


มะพร้าวน้ำหอมเป็นที่ชื่นชอบของคนหลายๆ คน เพราะมีประโยชน์มากมาย อาทิ ช่วยแก้กระหาย เพิ่มความสดชื่น บำรุงผิวพรรณ โดยกรมวิชาการเกษตรพบว่า มะพร้าวน้ำหอมสามารถปลูกได้ในพื้นที่ดินเค็ม
ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรดำเนินโครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2552 เพื่อเผยแพร่หลักการทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ และเป็นศูนย์ต้นแบบเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป
โดยพื้นที่ดำเนินโครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริฯ นี้เริ่มต้นจากพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็มทั้งหมดจำนวน 14 ไร่ ระดับความเค็มของดินในพื้นที่อยู่ในช่วง “เค็มน้อยถึงเค็มมาก” ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชทั่วไปอย่างรุนแรง และการแก้ไขปัญหาดินเค็มยังต้องใช้ต้นทุนสูง
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาดินเค็มสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีการหนึ่งที่ไม่ยุ่งยากและลงทุนต่ำคือ การปลูกพืชทนเค็มจัดหรือพืชชอบเกลือที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดินเค็มให้เกิดศักยภาพในการผลิตพืชได้อีกด้วย
นายขจรวิทย์ พันธุ์ยางน้อย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เนื่องจากความเค็มของดินทำให้ไม่สามารถปลูกพืชทั่วไปได้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง จึงได้คัดเลือกพืชที่เหมาะสมกับดินเค็ม
จากการศึกษาพบว่า มะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีในพื้นที่ดินเค็ม จึงนำพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “ก้นจีบ” จากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรมาทดลองปลูกในพื้นที่โครงการศูนย์เรียนรู้ฯ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
เนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมไม่เพียงสามารถตอบสนองต่อดินเค็มได้ดี แต่ยังให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รสชาติหอมหวานกว่าการปลูกในพื้นที่ปกติ วัดค่าความหวานได้เฉลี่ย 7.5-9 องศาบริกซ์ ซึ่งอาจเนื่องมาจากพืชที่ทนเค็มจะหลีกเลี่ยงการดึงโซเดียมไปใช้ทำให้ดึงโพแทสเซียมไปใช้ได้มากขึ้น
โดยประโยชน์ของโพแทสเซียมจะช่วยสังเคราะห์น้ำตาล แป้ง และโปรตีน ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของน้ำตาลจากใบไปยังผล ในขณะที่บางพื้นที่มีการปลูกมะพร้าวน้ำหอม เกษตรกรจะโรยเกลือบริเวณรอบๆ โคนต้นเพื่อเพิ่มความหวาน
อีกทั้งในเทคโนโลยีการผลิตมะพร้าวน้ำหอมของกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใส่ปุ๋ย 13-13-21 ร่วมกับ แมกนีเซียมซัลเฟต จะเห็นว่าการผลิตมะพร้าวน้ำหอมนั้นเกลือมีส่วนสำคัญอย่างมาก ซึ่งในลักษณะของพื้นที่ดินเค็มอาจไม่จำเป็นต้องโรยเกลือหรือใส่แมกนีเซียมซัลเฟต เนื่องจากในลักษณะดินเค็มจะมีแมกนีเซียมอยู่ในรูปของซัลเฟตเป็นองค์ประกอบอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูงได้ศึกษาวิจัยการจัดการปุ๋ยที่เหมาะสมกับการผลิตมะพร้าวน้ำหอมระยะก่อนให้ผลผลิต และระยะให้ผลผลิตในดินเค็มน้อย-ปานกลาง โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร พบว่าการใส่ปุ๋ยมะพร้าวน้ำหอมตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรร่วมกับแมกนีเซียมซัลเฟต ให้ผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิต เช่น ลักษณะเนื้อ ความหวาน ขนาดผลไม่แตกต่างจากการไม่ใส่แมกนีเซียมซัลเฟต
ดังนั้น การจัดการปุ๋ยมะพร้าวในพื้นที่ ดินเค็มที่เหมาะสมคือการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำกรมวิชาการเกษตร แต่ไม่ใส่แมกนีเซียมซัลเฟตก็ได้ อีกทั้งในระหว่างดำเนินการทดลองได้เพิ่มเติมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการศัตรูมะพร้าวน้ำหอมแบบผสมผสานคือหนอนหัวดำมะพร้าว โดยการใช้ชีวภัณฑ์บีทีร่วมกับสารเคมี พบว่าสามารถป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวน้ำหอมได้
สำหรับแนวทางการใส่ปุ๋ยสำหรับมะพร้าวน้ำหอมเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรคือ ปีที่ 1 ช่วง 4 เดือนแรกหลังปลูก เริ่มให้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยสูตรเดียวกันในอัตราเดิมช่วงปลายฤดูฝน
ปีที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น/ปี เพิ่มโดโลไมท์ อัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น/ปี แบ่งใส่ปุ๋ยเป็น 2 ครั้งต่อปี ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน
ปีที่ 3 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 3 กิโลกรัม/ต้น/ปี เพิ่มโดโลไมท์ อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น/ปี แบ่งใส่ปุ๋ยเป็น 2 ครั้ง/ปี ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน
ปีที่ 4 ขึ้นไป ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 4 กิโลกรัม/ต้น/ปี ใช้โดโลไมท์ อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น/ปี แบ่งใส่ปุ๋ยเป็น 2 ครั้ง/ปี ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน วิธีการใส่ปุ๋ยให้หว่านปุ๋ยรอบบริเวณทรงพุ่มของต้นมะพร้าวพรวนดินตื้นๆ เพื่อช่วยให้ปุ๋ยซึมลงในดิน กลบปุ๋ยให้ทั่วบริเวณทรงพุ่ม
“โครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ จังหวัดนครราชสีมา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่มีศักยภาพสูงในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาในพื้นที่ดินเค็ม” นายขจรวิทย์กล่าว
หากเกษตรกรประสบปัญหาการปลูกพืชในพื้นที่ดินเค็มสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา โทร. 0-4437-9390