เยี่ยมชมบ้านทอผ้า “ป้าผอย”มรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนตำปูง


ขึ้นชื่อ “สุรินทร์” ไม่ใช่มีดีแค่เมืองช้าง และแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่ของภาคอีสานเท่านั้น แต่เรื่องผ้าทอมือ ถือว่าขึ้นชื่อระดับประเทศ จนกลายเป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมายาวนาน ที่ผ้าทอของสุรินทร์มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น จากเทคนิคการทอสืบทอดมาจากโบราณ
นับวันถ้าไม่ร่วมกันอนุรักษ์ของดีในท้องถิ่น จะหายไปกับกาลเวลา เพราะอาชีพทอผ้าชาวบ้านบางคนได้วางมือไป ด้วยวัยและเทคโนโลยีที่คืบคลานเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต แต่ปัจจุบันยังมีหลายหมู่บ้าน ที่นิยมทอผ้า เป็นงานอดิเรก เพราะว่าเป็นอาชีพที่รักษากันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ทางภาครัฐได้เข้าสนับสนุนให้องค์ความรู้มากมาย
เพราะว่าอาชีพการทอผ้าพื้นเมืองของชาวบ้านบางชุมชน ยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ชุมชนเขมรถิ่นไทย ที่อดีตเคยปลูกหม่อน เลี้ยงไหมมายาวนาน มาถึงยุคนี้ได้ถ่ายทอดประสบการณ์สู่ลูกหลาน ที่ได้เพาะบ่มเทคนิคการทอผ้าแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่นำลวดลายต่างๆมาประยุกต์ใช้ลงบนผืนผ้าไหมมัดหมี่
“ผอย เสริมศิริ” หนึ่งสมาชิกค่าย SY59 ชุมชนตำปูง ต.นาดี อ.เมือง จ.สุรินทร์ ที่ยึดอาชีพทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และยามว่างหันมาทอผ้าผืนอยู่กับครอบครัว เพื่อสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง จนกลายเป็นวิถีชีวิตที่ทำกันมายาวนาน สามารถสร้างรายได้ มีกิน มีใช้ในระดับหนึ่ง เพราะการทอผ้าผืนแบบโบราณ สามารถสร้างรายได้จากขายผ้าไหมให้คนทั่วไปที่รู้จักกัน มีความคุ้นเคยซื้อผ้ากันมายาวนาน สามารถบอกต่อปากต่อปาก จนสร้างรายได้งาม อย่างต่ำผืนละ 3 พันกว่าบาท มีลูกค้าบางคนซื้อไปขายต่อ
แต่ช่วงหลังๆ ได้เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ (Facebook อึ่ง เสริมศิริ) เพื่อขยายตลาดได้กว้างขึ้น แต่ผ้าทอมีจำกัด เนื่องจากเป็นสินค้าในครัวเรือน ไม่ได้ทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม บางช่วงทอผ้าเสร็จขายต่อ เพราะบางผืนต้องใช้เวลาการทอพอสมควร
ซึ่งผ้าทอมือ ที่กำลังทออยู่ในปัจจุบัน เป็นผ้าลายสิริวชิราภรณ์ แบบประยุกต์ ปี 67 ซึ่งก่อนที่จะทอผ้าสำเร็จได้สักผืน จะต้องผ่านขบวนการมัดลาย และทำการย้อม แต่ละขั้นตอนตามลายนั้นๆ ต่อจากนั้นจะเอามาทอแต่ละเส้นให้เรียงเป็นระเบียบตามลายที่มัดมา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา เป็นงานฝีมือชาวบ้านที่ถ่ายทอดจากภูมิปัญญา
“ผอย เสริมสิริ” อีกหนึ่งแบบอย่างในชุมชน ที่ใช้มันสมอง สองมือ ได้รังสรรค์ผลงานการทอผ้าไหมพื้นเมือง จ.สุรินทร์จนขึ้นชื่อ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดี การทอผ้า จะต้องมีทักษะและใช้ความรู้ มุ่งมั่น ขยัน และอดทน กว่าจะทอผ้าออกมาได้สักหนึ่งผืน ต้องมีความใสใจและละเอียดอ่อน ใช้เวลาพอสมควรที่ให้ผลงานออกมาสวยงาม คุ้มค่า อยากเชิญชวนให้มาสนับสนุน “สินค้าฝีมือชาวบ้าน” เป็นสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแกร่ง