“กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ทรงเปิดงานชุมนุมกาชาด ประจำปี พ.ศ.2567

“กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ทรงเปิดงานชุมนุมกาชาด ประจำปี พ.ศ.2567





Image
ad1

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 และทรงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สภากาชาดไทยในศตวรรษที่ 21“ โดยมี นายเตช บุญนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย คณะผู้บริหารสภากาชาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเหล่ากาชาดจังหวัด คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัด คณะกรรมการกิ่งกาชาดอำเภอ ทั้ง 76 จังหวัด

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องประชุมใหญ่ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เหรัญญิกสภากาชาดไทย เฝ้าทูลละอองพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตร นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด ประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 เฝ้าทูลละอองพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเข็มที่ระลึกงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทยกราบบังคมทูลรายงาน และกราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณเข้ารับพระราชทานของที่ระลึก (จำนวน 80 ราย)

จากนั้น ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงาน “งานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12” และทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “สภากาชาดไทยในศตวรรษที่ 21” โอกาสนี้ เสด็จพระราชดำเนินไปยังโถงแสดงนิทรรศการ เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการประวัติความเป็นมาของสภากาชาดไทย “ใต้ร่มพระบารมี พระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย” (ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 - รัชกาลปัจจุบัน) นิทรรศการหน่วยงานของสภากาชาดไทยและนิทรรศการภารกิจของเหล่ากาชาดจังหวัดและกิ่งกาชาดอำเภอจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังสวนนงนุชพฤกษศาสตร์เพื่อทอดพระเนตรต้นมะพร้าวทะเลทรงปลูก และเสด็จพระราชดำเนินไปยังพิพิธภัณฑ์หัวโขน      

สภากาชาดไทย ได้จัดงานชุมนุมกาชาดครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2508 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เหล่ากาชาดจังหวัดกิ่งกาชาดอำเภอ และสภากาชาดไทยส่วนกลาง ได้ทำกิจกรรม พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีในการประสานประโยชน์ให้กับการปฏิบัติภารกิจของสภากาชาดไทยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้รับความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในบทบาทหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อมนุษยธรรม ตามหลักการกาชาด 7 ประการ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ด้านการบริการอาสาสมัครและการทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม และเพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีและสร้างเครือข่ายระหว่างสภากาชาดไทย เหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอ

สภากาชาดไทย ได้จัดให้มีงานชุมนุมกาชาดมาแล้ว จำนวน 11 ครั้ง ตามมติการประชุมกรรมการสภากาชาดไทย ครั้งที่ 139 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ได้กล่าวถึง การประชุมของเหล่ากาชาดจังหวัด ซึ่งภายหลังจัดตั้งเหล่ากาชาดจังหวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2504 ยังมิได้มีการประชุมพบปะกันอีกเลย สภากาชาดไทยจึงเห็นควรให้มีการประชุมกันอีก โดยเป็นการประชุมของเหล่ากาชาดจังหวัดและผู้แทนอนุกาชาดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งเรื่องที่สมควรจะให้ทราบโดยทั่วกัน และเห็นสมควรที่จะให้มีการจัดเป็นประจำชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 1 กำหนดการจัดงาน 5 วัน โดยคณะกรรมการเจ้าหน้าที่กำหนดให้มีการจัดประชุมแบบ Convention เรียกว่า “ชุมนุมกาชาดครั้งที่ 1” ขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 ณ สถานพักฟื้นสวางคนิวาส จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดได้รับความรู้เกี่ยวกับงานของสภากาชาดไทยรวมทั้งเป็นโอกาสที่ได้มาพบปะสังสรรค์กัน

ในปี 2567 นี้ สภากาชาดไทยกำหนดจัดงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมราชูปถัมภก สภากาชาดไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อสืบสานปณิธาน และต่อยอดภารกิจการเป็นที่พึ่งของประชาชนด้วยยุทธศาสตร์ “สภากาชาดไทยในศตวรรษที่ 21”

โดยในศตวรรษที่ 21 สภากาชาดไทยมีความมุ่งมั่นโดยได้เริ่มยกระดับและขยายงานตามพันธกิจเพื่อให้เป็นที่พึ่งประชาชนโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางทางสังคม โดยใช้ยุทธศาสตร์ “สภากาชาดไทยในศตวรรษที่ 21” ในการเป็นองค์กรแห่งคุณธรรมที่เข้มแข็ง โปร่งใส และทันสมัย ให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21 จึงได้กำหนดจุดมุ่งเน้นที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาบริการประชาชนตามพันธกิจของสภากาชาดไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล การปลูกฝังจิตสำนึกและร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การสร้างเสริมและสนับสนุนให้อาสาสมัครในพื้นที่และอาสาสมัครสภากาชาดไทยที่อยู่ในระบบอาสาสมัครมาร่วมทำกิจกรรมตามพันธกิจของสภากาชาดไทย 

และการมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางทางสังคมโดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ชุมชน และประชาสังคม รวมทั้งลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีเหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอ ซึ่งเป็นตัวแทนที่สำคัญยิ่งของสภากาชาดไทยในส่วนภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานตามภารกิจของเหล่ากาชาดจังหวัดและกิ่งกาชาดอำเภอ และสนับสนุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทยตามยุทธศาสตร์ “สภากาชาดไทยในศตวรรษที่ 21”