น่าน - ห้วยโก๋น - น้ำพาง ขานรับนโยบายเข้มข้น "ปัองกันไฟป่า" ร่วมใจเดินขึ้นเขาทำแนวกันไฟ พร้อมรณรงค์ ห้ามเผา 47 วัน

น่าน - ห้วยโก๋น  - น้ำพาง  ขานรับนโยบายเข้มข้น "ปัองกันไฟป่า"  ร่วมใจเดินขึ้นเขาทำแนวกันไฟ พร้อมรณรงค์ ห้ามเผา 47 วัน





ad1

น่าน - ห้วยโก๋น  - น้ำพาง  ขานรับนโยบายเข้มข้น "ปัองกันไฟป่า"  ร่วมใจเดินขึ้นเขาทำแนวกันไฟ พร้อมรณรงค์ ห้ามเผา 47 วัน

จังหวัดน่าน เริ่มมาตรการเข้มข้น ห้ามเผา 47 วัน นโยบายเร่งด่วนของ นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้บูรณาการทุกความร่วมมือและทุกภาคส่วน จัดระเบียบการเผาให้กับประชาชนทั้ง 15 อำเภอ ตั้งเป้าลดจุด Hot spot และคืนคุณภาพอากาศให้เมืองน่าน โดยในช่วง 47 วัน ห้ามเผา  ใครเผาจับจริง เริ่มตั้งแต่ 15 มีนาคม - 30 เมษายน 2567 นอกจากห้ามเผาแล้ว การทำแนวกันไฟป่ายังเป็นเรื่องสำคัญ  ด้วยสภาพภูมิประเทศของจังหวัดน่าน เต็มไปด้วยภูเขาสูงชัน ดังนั้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รัฐ  เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนอาสาสมัครในแต่ละพื้นที่ จึงถือเป็นกำลังหลักของภารกิจ

โดยอำเภอเฉลิมพระเกียรติ  เป็นพื้นที่ห่างไกลและเป็นรอยต่อแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ซึ่งบูรณาการทุกภาคส่วน จัดกิจกรรมการ "ทำแนวป้องกันไฟป่าสองแผ่นดิน  ตามโครงการหมู่บ้านเข้มแข็ง คู่ขนานตามแนวชายแดน"  โดยมีเกษตรกรและชาวชุมชนบ้านห้วยโก๋น ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ  และ บ้านน้ำเงิน  เมืองเงิน สปป.ลาว โดยมีท่านทองพัน สุกสะหวัด รองเจ้าเมืองเงิน ผู้แทนแขวงไซยะบุรี และเกษตรกรชาว สปป.ลาว  มาร่วมระดมความร่วมมือของฝั่งไทย-ลาว ที่มุ่งเป้าหมายจะป้องกันไฟป่าและปัญหาหมอกควันไฟ  ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสองประเทศ

 ทางด้าน ดร.เพชรดา อยู่สุข  รองผู้อำนวยการสถาบันด้านการพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดการเผา และฝุ่น PM 2.5 ร่วมในกิจกรรมครั้งนี้  โดยจัดเป็นนิทรรศการ 14 ชุดความรู้  ได้แก่ แนวทางการปรับระบบเกษตรด้วยเกษตรมูลค่าสูง ด้วยพืชผักในโรงเรือน พืชไร่และไม้ผลเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน, กาแฟฟื้นฟูป่า และการพัฒนาสินค้าชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่า, การพัฒนาช่องทางการตลาดด้วย GREEN PRODUCT: ผลผลิตที่ไม่บุกรุกป่า จากพื้นที่ไม่เผา ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว, แนวทางการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร, การทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก, การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยผลิตภัณฑ์จากใบไม้ และการเพาะเห็ด, การสร้างอาหารธรรมชาติจากเศษวัสดุเหลือใช้ , การส่งเสริมการเรียนรู้องค์ความรู้่พื้นที่สูงผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล, การส่งเสริมอาชีพผ้าถักรองเขียงจากเศษวัสดุ, อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 และการดูแลป้องกันเบื้องต้น, รณรงค์ลดการเผา และบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร, การบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการแก้ไขปัญหาการเผาอย่างบูรณาการ และแนวทางการป้องกันไฟป่าและบริหารจัดการไฟตามหลักวิชาการ/ตามมาตรการของจังหวัด, การจัดการเศษวัสดุการเกษตรเพื่อลดการเผาด้วยชีวมวลอัดแท่ง, องค์ความรู้จากผลงานวิจัย เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน มีเกษตรกรและประชาชนจากทั้งสองฝั่ง ไทย-ลาว ให้ความสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อนำไปใช้ป้องกันและแก้ไขปัญหา หมอกควัน- ไฟป่า อย่างยั่งยืน

ขณะที่ชาวบ้านตำบลน้ำพาง อ.แม่จริม ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เดินขึ้นเขาสูงเพื่อทำแนวกันไฟอย่างต่อเนื่อง โดย นายจร ทองคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพาง   พร้อมด้วย  นายสวาท  ธรรมรักษา กำนันตำบลน้ำพาง  คณะกรรมการหมู่บ้านน้ำพาง และชาวบ้านมากกว่า 100 คน ยังเดินขึ้นภูเขาสูง เพื่อกันทำแนวกันไฟอย่างต่อเนื่องในบริเวณพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าบนภูเขาสูง อยู่ห่างจากชุมชน ประมาณ 800 เมตร ซึ่งต้องทำแนวกันไฟทุกปี เพื่อป้องกันไฟไหม้ป่าไปในพื้นที่กว้าง และเพื่อป้องกันไฟป่าลุกลามเข้าใกล้บ้านเรือนของชาวบ้านซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

นายศรันญ์วรัทย์ เขื่อนเขตร ส.อบต.น้ำพาง อ.แม่จริม  เปิดเผยว่า  พื้นที่ป่าชุมชนบนภูเขาสูง  ชาวบ้านต้องสลับผลัดเปลี่ยนไปทำแนวกันไฟ เพราะมีความเหนื่อยล้าที่จะต้องเดินขึ้นเขาลงห้วย เพื่อขึ้นไปทำแนวกันไฟ มีทั้งฝุ่นตลบ ใบไม้ใบหญ้าแห้งที่กองรวมกันเป็นจำนวนมาก  บางจุดกองใบไม้มีความหนา นอกจากต้องใช้เวลานานในการทำแนวกันไฟ ยังต้องระวังสัตว์มีพิษ เช่น งูพิษ ที่ซ่อนตัวอยู่ในกองใบไม้ด้วย  และที่สำคัญคือสภาพอากาศที่ร้อนจัด  ทีมอาสาสมัครต้องช่วยกันดูแลกันและกันอย่างเต็มที่ไม่ให้เกิดอันตรายขณะขึ้นไปทำแนวกันไฟ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาและข้อจำกัดในการทำงานคือ อุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อการขึ้นไปปฏิบัติงาน เช่น เครื่องเป่าลม

 สำหรับพื้นที่อำเภอแม่จริม  นายสิโรตม์ ชมใจ นายอำเภอแม่จริม   พร้อมด้วย นายภูวลักษณ์ สมคิด หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่จริม  นายสมนึก เดชะปักษ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าแม่จริม  และนายธันวา ม่วงทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอำเภอแม่จริม   ได้ออกรณรงค์มาตรการห้ามเผา 47 วัน ซึ่งหากฝ่าฝืนจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด พร้อมออกให้ความรู้และเตรียมความพร้อม รับมือ และเฝ้าระวังไฟป่าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

รายงาน : ระรินธร  เพ็ชรเจริญ