ชาวบ้านแฮด ปลูกหัวไชเท้าขายสร้างรายได้ 5 หมื่นต่อไร่

ชาวบ้านแฮด ปลูกหัวไชเท้าขายสร้างรายได้ 5 หมื่นต่อไร่





ad1

ชาวบ้านแฮด ปลูกผักกาดหัว หรือหัวไชเท้า มานานกว่า 30 ปี เป็นผลิตภัณฑ์การเกษตรที่สร้างรายได้งาม แถมบางส่วนคัดไปทำหัวไชเท้าดอง ตลาดต้องการเยอะ วอนภาครัฐช่วยสนับสนุนแหล่งน้ำเพิ่ม เพราะตอนนี้ใช้น้ำบาดาล อยากได้ระบบโซลาร์เซลล์ช่วยดึงน้ำ

นายทวี ไชยชาติ กำนันตำบลบ้านแฮด อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น พาเยี่ยมชมแปลงเกษตรแปลงใหญ่ที่เกษตรกรในพื้นที่รวมตัวกันปลูกต้นผักกาดหัวส่งขาย สร้างรายได้งาม 

นายทวี กล่าวว่า ในพื้นที่ จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองโง้ง บ้านแฮด บ้านหนองไฮ ตำบลบ้านแฮด และบ้านทางพาดปอแดง ตำบลโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮดมีสภาพดินที่เหมาะกับการปลูกผักกาดหัว เพราะสภาพดินจะเป็นดินร่วนปนทราย เพราะดินประเภทอื่นนั้นจะมีลักษณะแข็งจะทำให้ผักลงหัวได้ลำบาก หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ชาวบ้านจะแปลงสภาพทุ่งนา มาปลูกหัวไชเท้ากัน ขายได้สองรอบ ถือว่าเป็นผักทำเงินในฤดูแล้ง

กำนันตำบลบ้านแฮด กล่าวต่อว่า ชาวบ้าน ปลูกหัวผักกาดต่อเนื่องกันมากว่า 30 ปีแล้ว สร้างรายได้ประมาณ 50,000 บาท ต่อไร่ ปีนี้ตลาดรับซื้อหัวไชเท้า กิโลกรัมละ 8-10 บาท ถือเป็นราคาที่ดี เจ้าของสวนต้องจ้างคนในหมู่บ้านมาช่วยงาน ทั้งเก็บหัว คัดไซส์ หัวตกเกรด ชาวบ้านจะตัดแต่ง แล้วขายแบบถูกๆ บางส่วนนำไปแปรรูปเป็นหัวไชเท้าดอง ส่งขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ส่วนหัวที่สมบูรณ์ก็บรรจุใส่ถุง รอพ่อค้าแม่ค้ามารับไปขายต่อ

นายทวี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันทั้งอำเภอบ้านแฮด มีชาวบ้านปลูกผักกาดหัวส่งขาย 80 ราย พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ โดยเลือกปลูกหลังฤดูกาลทำนา คือ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะไถทำแปลง ซึ่ง 1 ปีปลูกได้ 2 – 3 รอบ แต่ละรอบวางแผนเว้นระยะการปลูกลงต้นใหม่ทุกๆ 10 วันให้สามารถเก็บเกี่ยวขายได้ตลอดฤดูกาล ซึ่งแต่ละฤดูกาลใช้เวลาในการปลูกจนถึงเก็บขายเพียง 45 วัน ทำรายได้รวมปีละหลายล้านบาท หลังเก็บผักกาดหัวขายชาวบ้านยังปลูกเห็ดฟางต่อ ซึ่งเห็ดฟางก็ราคากำลังดีอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท

กำนันตำบลบ้านแฮด กล่าวด้วยว่า แม้ว่าผักกาดหัวราคาดี ตลาดมีความต้องการสูง มีนายทุนมารับซื้อถึงแปลงปลูก แต่เกษตรยังมีความต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมเรื่องน้ำ เพราะผักกาดหัวต้องการน้ำ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรใช้น้ำจากบ่อบาดาล เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนการใช้น้ำ หากภาครัฐเข้าไปช่วยส่งเสริมทำระบบโซลาร์เซลล์ดึงน้ำมาไว้ในแหล่งน้ำ ก็จะสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกผักกาดหัวได้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย.