พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ "สละ"ราคาพุ่งชาวสวนตะโหมดลุยปลูกแล้ว 280 ไร่


“ตะโหมด” ลุยถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ประจำปี 2567 สละ “บินเดี่ยว” ราคาบูม 50 -55 บาท / กก. ตะโหมดลุยปลูกแล้ว 280 ไร่ ทำเงินสะพัดเป็นจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นายชัชชลิต บุญศิริ นายอำเภอตะโหมด จ.พัทลุง เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field day) ประจำปี 2567 มีนายสมนึก คงชู เกษตรจังหวัดพัทลุง นางวราภรณ์ ชายเกตุ เกษตรอำเภอตะโหมด พร้อมสำนักงานเกษตรอำเภอตะโหมด และผู้ร่วมงาน ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง สวนแก้วสุนันทา หมู่ที่ 1 ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง โดยมีเกษตรกร นักเรียน ผู้สนใจ ส่วนราชการหน่วยงานและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมงาน จำนวน 120 ราย
นางวราภารณ์ ชายเกตุ เกษตรอำเภอตะโหมด กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงาน และแนะนำสถานีเรียนรู้จำนวน 5 สถานีด้วยกัน โดยสถานีที่ 1 เรื่องของการเลี้ยงปลาในกระชังบก โดยสำนักงานประมงจังหวัดพัทลุง ส่วนสถานีที่ 2 เรื่องของการลดต้นทุนการผลิตด้วยแหนแดง สถานีที่ 3 เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ สถานีที่ 4 เรื่องการจัดการศัตรูพืชในสละ และสถานีที่ 5 เรื่องของการปรับปรุงบำรุงดิน มีการนิทรรศการ การถ่ายทอดให้ความรู้ทางวิชาการทางด้านการเกษตร เพื่อจะได้ดำเนินการเป้นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหน่วยงานภาคีภาครัฐและเอกชน ฯลฯ
“เป็นการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะสำคัญอย่างยิ่งคือการเพิ่มช่องทางการตลาดให้มีการรองรับผลการผลิต”
นอกนั้นแล้วสิ่งที่จำเป็นเช่นกันคือมีความต้องการที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง และเกษตรกรกับนักวิชาการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายหลัก คือการจัดการฟาร์มเกษตรแบบผสมผสาน และการผลิตพืชปลอดภัยอย่างยั่งยืน
ในขณะเดียวกันขณะนี้ผลไม้ที่สำคัญของ จ.พัทลุง คือสละ ซึ่งจะให้ผลผลิตตลอดทั้งปีและให้ผลผลิตอยู่ตัวเดียว ในขณะนี้ที่ผลไม้ตัวอื่นยังไม่ถึงฤดูกาลออกผลผลิตและออกสู่ตลาด โดยมีแต่สละส่งผลให้ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยเคลื่อนไหวระหว่างราคา 50 บาท และถึง 55 บาท / กก. โดยเมื่อหน้านั้นในขณะที่มีผลไม้ต่าง ๆ จ.พัทลุง ได้ออกมาตามฤดูกาลไล่เลี่ยตามกัน ซึ่งขณะนั้นสละราคาจะปรับตัวอยู่ที่ประมาณ 30 บาท / กก.
“ในพื้นที่ อ.ตะโหมด ปลูกสละแล้วประมาณ 280 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 500 กก. / ไร่ / ปี ประมาณ 140,000 กก. หรือ 140 ตัน / ปี จะมีเงินหมุนสะพัดเป็นจำนวนมาก"
โดย...อัสวิน ภักฆวรรณ