กยท.ผนึกกำลัง‘IRRDB’จุดประกายเสริมสร้างนวัตกรรมยางพารามุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน

กยท.ผนึกกำลัง‘IRRDB’จุดประกายเสริมสร้างนวัตกรรมยางพารามุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน





ad1

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมดุสิตธานีพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้การต้อนรับ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (International Rubber Research and Developrent Board: IRRDB) เปิดเวทีการประชุมวิชาการยางระหว่างประเทศ (IRRDB International Rubber Conference : IRC 2024) ภายใต้แนวคิด "จุดประกายเสริมสร้างนวัตกรรมยางพารามุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน" มุ่งผลักดันงานวิจัย - นวัตกรรม สู่การพัฒนาวงการยางตลอดห่วงโช่อุปทาน

โดยได้รับเกียรติจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมฯพร้อมมอบแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาง รับมือความท้าทายในทุกมิติ โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนหน่วยงานสถาบันวิจัยจาก 19 ประเทศสมาชิก ได้แก่ บังกลาเทศ บราซิล กัมพูชา แคเมอรูน จีน โกตดิวัวร์ ฝรั่งเศส กัวเตมาลา อินเดีย อินโดนีเซีย ไลบีเรีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ไนจีเรีย ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และไทย และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกที่เป็นผู้นำด้านการผลิตยางพารา และมีประวัติศาสตร์การทำเกษตรอย่างยาวนาน มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการเกษตรเพื่อความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญและตระหนักถึงการกำหนดทิศทางในอนาคตของสินค้ายางพารา ซึ่งเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและของโลก เวทีประชุมวิชาการครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันความรู้ และความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยางพารา

ภายใต้แนวคิด “จุดประกายเสริมสร้างนวัตกรรมยางพารามุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ผ่านการนำนวัตกรรม และสำรวจแนวคิดใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์และนักวิจัยรุ่นเยาว์ พัฒนาสู่แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน รับมือกับความท้าทายในภาคอุตสาหกรรมยางพาราที่กำลังเผชิญ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เพื่อสามารถขับเคลื่อนวงการยางพาราทุกภาคส่วนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

การประชุมในครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายความ ร่วมมือ ของผู้เกี่ยวข้องในวงการยางตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เชื่อว่าทุกความคิดเห็นและมุมมองที่หลากหลายจากการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางร่วมกัน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยางให้เกิดความยั่งยืนทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งประโยชน์ที่จะเกิดกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย นำไปสู่การพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรฯ อย่างเป็นรูปธรรม

รวมทั้งการนำเสนอผลงานทางวิชาการ งานวิจัย และการแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะความคิดเห็น ประสบการณ์ของตัวแทนหน่วยงานสถาบันวิจัยจาก 19 ประเทศสมาชิก  จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยให้มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาวงการอุตสาหกรรมยางในอนาคตต่อไป