คนรากหญ้ามั่นใจสาโทพื้นบ้านกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนเติบโตยั่งยืนมั่นคง

คนรากหญ้ามั่นใจสาโทพื้นบ้านกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนเติบโตยั่งยืนมั่นคง





ad1

ภายหลังจากที่ เมื่อวันที่ 2 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบลดภาษีไวน์ สุราพื้นบ้าน และกิจการบันเทิง เพื่อส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มสุราแช่ชนิดต่างๆ จากเดิมจัดเก็บภาษีอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ให้กำหนดอัตราภาษีโดยจำแนกพิกัดอัตราภาษีประเภทย่อย เช่น อุ กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี 

ทั้งนี้กำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์, สุราแช่ ที่มีการผสมสุรากลั่นและมีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 255 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ และสุราแช่อื่นๆ โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์นั้น

จากนโยบายดังกล่าว"กรฉัตรชัย นาสมใจ"อายุ 27 ปี เกษตรกรจ.ในเมือง อ.คง จ.นครราชสีมา บอกว่า ถ้ากฎหมายนี้ออกมา จะเป็นการส่งเสริมให้มีการคิดค้นเหล้าสาโทรสชาติใหม่ๆ ขึ้นมา วางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับรากหญ้าแล้ว ยังเป็นการรักษาวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของชาวอีสานไว้ได้ และยังเป็นซอล์ฟพาวเวอร์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

กรฉัตรชัย บอกต่อว่า ปัจจุนบันกำลังทดลองนำข้าวเหนียวที่ปลูกเองจากพื้นที่ อ.คง มาหมักทำเหล้าสาโท ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับสูตรเหล้าสาโท ให้ได้รสชาดแบบเหล้าสาโทพื้นบ้านดั้งเดิม เพื่อเตรียมที่จะนำไปเสนอขอจดทะเบียนตั้งโรงงานผลิตเหล้าสาโท วางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ในอนาคต 

"มติ ครม.ที่ออกมานี้ ถือว่าเป็นผลดีต่อชาวบ้านที่อยากจะผลิตสุราแช่ หรือเหล้าสาโทมาก เพราะลดการจัดเก็บภาษีเหลือร้อยละ 0 แล้วมาเก็บตามปริมาณลิตรของแอลกอฮอล์แทน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสามารถทำเหล้าสาโทออกมาขายได้ในราคาต้นทุนที่ถูกลงมาก"กรฉัตรชัย ระบุ 

อย่างไรก็ตามก็ต้องรู้เรื่องของรายละเอียดในการขอจดทะเบียนเปิดโรงงานทำเหล้าสาโท ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย หากสามารถทำให้การผลิตเหล้าสาโท แพร่หลายไปทั่วประเทศได้ ก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าได้เป็นอย่างดี เพราะเหล่าสาโท เป็นสุราพื้นบ้านที่อยู่คู่สังคมไทยมาตั้งแต่โบราณ ทำจากข้าวเหนียวที่ปลูกเอง โดยเฉพาะช่วงเกี่ยวข้าว ซึ่งในอดีตชาวอีสาน มักจะมีการลงแขกเกี่ยวข้าวกัน ก่อนที่จะถึงฤดูเกี่ยวข้าว เจ้าของนาก็จะหมักเหล้าสาโทไว้ เพื่อให้คนที่มาช่วยลงแขกเกี่ยวข้าวได้ดื่มกินหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ 

ดังนั้นเหล้าสาโทจึงถือว่าเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวอีสาน เพียงแต่ไม่สามารถนำมาวางขายได้ จึงทำให้หาดื่มเหล้าสาโทได้ยาก แต่หลังจากนี้ไปการหมักเหล้าสาโท ดื่มเอง ไม่เพียงกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนเติบโตแข็งแกร่งยั่งยืนแล้วยังจะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและวิถีชีวิตดีขึ้นตามลำดับ