กมธ.อุตฯชื่นชม "พิมพ์ภัทรา"ลุยตั้ง"กรมอุตสาหกรรมฮาลาล"รุกตลาดทั่วโลก

กมธ.อุตฯชื่นชม "พิมพ์ภัทรา"ลุยตั้ง"กรมอุตสาหกรรมฮาลาล"รุกตลาดทั่วโลก





ad1

ประธานกมธ.อุตสาหกรรม สภาฯยกคณะใหญ่ถกผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตฯ ย้ำเป็นการทำงานคู่ขนาน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศมีความเข้มแข็ง ชื่นชม“พิมพ์ภัทรา” เดินหน้าตั้ง “กรมอุตสาหกรรมฮาลาล” ขยายตลาดอาหารฮาลาลไทยไปทั่วโลก

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้นำคณะกรรมาธิการฯ เข้าประชุมหารือกับ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอรับทราบข้อมูลแนวทาง และนโยบายการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

นายอัครเดช กล่าวว่า  การมาครั้งนี้ถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องทำงานคู่ขนานร่วมกับฝ่ายบริหารเพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด โดยต้องการทราบนโยบายและวิสัยทัศน์ของกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมทั้งหารือ สอบถาม เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหา ที่เห็นว่า ยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ โดยหลังจากการที่ได้รับฟังข้อมูลแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หลายประเด็นเป็นสิ่งใหม่ ที่เพิ่งได้รับทราบเป็นเรื่องที่น่าสนใจหากทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือ และเปลี่ยนข้อมูล จับมือกันทำงานคู่ขนานกันไปก็เชื่อว่า จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศมีความเข้มแข็ง

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้ชื่นชมวิสัยทัศน์ของรมว.อุตสาหกรรมในการเสนอให้มีการจัดตั้ง “กรมอุตสาหกรรมฮาลาล” ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้เร่งดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการอาหารฮาลาลในประเทศไทย ในการขยายตลาดสู่อุตสาหกรรมฮาลาลในตลาดโลก ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างมาก

นายอัครเดช กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ยังได้สอบถามแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับข้อกังวลสถานการณ์ด้านอุตสาหกรรมในหลายประเด็น  อาทิ แนวทางการส่งเสริม หรือให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเก่า สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิม ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า, นโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ, การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเหมืองโปแตซ เช่น กรณีเหมืองแร่โปแตซ ที่ จ.นครราชสีมา รวมถึงความคืบหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น