ปี'66 ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงรอฟื้นตัว-เซียนซี้ไทยอีก 3 ปีโตพุ่งทะลุแสนล้าน

ปี'66 ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงรอฟื้นตัว-เซียนซี้ไทยอีก 3 ปีโตพุ่งทะลุแสนล้าน





ad1

แนวโน้มการเติบโตการดูแลสัตว์เลี้ยง ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกๆปี ด้วยเหตุผล คนยุคนี้หันมาสนใจเลี้ยงสัตว์กันเพิ่มขึ้น เนื่องจากว่าสังคมเริ่มตื่นตัวนำสัตว์มาเป็นเพื่อนเสมือนกับสมาชิกในครอบครัว

ยิ่งสังคมผู้สูงอายุ อยากมีสัตว์มาเป็นเพื่อนคลายเหงา คนแต่งงานไม่มีลูกอยากมีสัตว์มาดูแลในอ้อมอก รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มรักสัตว์มากขึ้น  ซึ่งเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงในรูปแบบเก่าๆหันมาเอาใจใส่ดูแลมากขึ้น

ยิ่งช่วงโลกประสบปัญหาเรื่องโควิท 19  คนส่วนใหญ่ต้องอยู่กับบ้าน หันมานิยมสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เหงา ส่งผลให้ตลาดอาหารสัตว์กลุ่มแมวและสุนัขเริ่มเติบโต สวนกระแสตลาดสินค้าทั่วไป ซึ่งกลุ่มเลี้ยงสัตว์แบบเดิมๆหันมาสนใจเลือกซื้ออาหารสัตว์ที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการและใสใจเรื่องสุขภาพสัตว์มากกว่ารูปแบบเดิมๆ  จำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น4-5เท่าตัว

โอกาสทองการทำธุรกิจอาหารสัตว์ในไทย จึงมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวประโดด อย่างในปี2565 ถือว่าอยู่ในภาวการณ์ที่ดีมากๆมีมูลค่าการส่งออกสูง9.8 หมื่นล้าน ถ้าเทียบกับปี 2560 เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ส่วนหนึ่งเกิดจากรูปแบบการใช้ชีวิตสังคมโลกยุคใหม่ หันมาสนใจเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น

จากการรวบรวม ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics)  พบว่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยปีนี้มีมูลค่า8.3 -8.8 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 ปรับตัวลง 10-15 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าหดตัวในรอบ 20ปี  เหตุผลหนึ่งมาจากภาวะกดดันของผู้ประกอบการรายใหญ่ของแต่ละภูมิภาค มีผลกระทบต่อส่งออกไทย แต่ยังมีจุดแข็ง ในเรื่องต้นทุนการขนส่งสินค้าและข้อตกลงทางการค้า เพื่อรักษาความเป็นผู้ส่งออกอันดับ3 ของโลก

ปี 2566 นี้ ยังต้องเผชิญความท้าทายจากการสูญเสียการส่งออกไปยังตลาดหลักบางส่วน อย่างสหรัฐอเมริกา รวมทั้ง ประเทศอิตาลีเมื่อช่วงที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับความผันผวนค่าเงิน  ซึ่งแรงกดดันเหล่านี้มีผลต่อพื้นที่การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไทยในปีนี้  แต่ถึงกระนั้น ไทยยังรักษาฐานการตลาดประเทศในแถบเอเชียที่มีศักยภาพอย่างญี่ปุ่น รวมถึง ตลาดแถบอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

ในส่วนภาครัฐเอง ต้องเร่งเจรจาตลาดใหม่ๆที่ไทยมีความได้เปรียบต้นทุนการขนส่ง อย่างจีน มีศักยภาพสูง ประเทศฮ่องกงและนิวซีแลนด์  เพื่อรักษาอันดับ3 ไว้ให้ได้ เชื่อว่าอนาคตก้าวข้ามขึ้นมาเป็นอันดับ 2  

สอดคล้องกับแนวทาง ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยมองว่า ปีนี้สถานการณ์โลก ต้องประสบกับเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงปรับตัวลดลง  แต่คาดการณ์ว่าในไตรมาสที่4 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งไทยค่อนข้างที่มีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ในขบวนการผลิตและโรงงานต่างๆได้พัฒนาเทคโนโลยี และเรื่องR&D  สามารถพัฒนาโปรดักส์ใหม่ๆแข่งขันในตลาดโลกได้

โดยคาดการณ์ว่า ไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ1ของโลกให้ได้ภายใน5 ปีข้างหน้า จากเดิมยังอยู่อันดับ3 และตั้งเป้าการเติบโตธุรกิจอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านภายใน 3 ปี ทั้งนี้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนทุกฝ่ายร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจ ตอนนี้ได้หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกรมปศุสัตว์  ในเรื่องต่างๆที่สนับสนุนต่อการส่งออกไทย อย่างประเด็นเรื่องBCG  การลดคาร์บอนที่มีผลกระทบต่อโลก ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าโลก นับจากนี้เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

ด้านอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์  กรรมการสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย มองว่า ความได้เปรียบผู้ผลิตและผู้ค้าอาหารสัตว์ไทย เรื่องความพร้อมของวัตถุดิบจากไก่ ปลาทูน่าที่มีคุณภาพ เรื่องการพัฒนาสินค้าใหม่ ส่งผลให้ตลาดโลกเชื่อมั่นในการเลือกซื้อสินค้าจากไทย    

ส่วนจุดอ่อนเรื่องวัตถุดิบจากเนื้อวัว เนื้อแกะ ทางประเทศแถบยุโรป จะมีราคาถูกกว่าไทย ช่วงที่ผ่านมาไทยมียอดส่งออกกว่า 8 หมื่นล้านบาท  สิ่งที่กังวลในปีหน้าเรื่องความผัวผวนค่าเงิน อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระดับหนึ่ง  คาดว่าส่งออกน่าจะดีขึ้นไตรมาส3 เป็นต้นไป หลังจากครึ่งปีแรกยังชะลอตัวอยู่

ไม่เพียงแค่นั้น ธุรกิจเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง  ประเภทเครื่องใช้ เครื่องประดับ อุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้กับการเลี้ยงสัตว์ ยังเป็นธุรกิจผลพลอยได้เติบโตควบคู่ไปด้วย เพราะว่าไทยมีฝืมือการผลิต การออกแบบที่ดี ทั้งเรื่องคอกสัตว์ เสื้อผ้า สายรัด ภาชนะต่างๆและอื่นๆอีกมากมาย        

อนึ่ง ตลาดส่งออกสัตว์เลี้ยง ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวดี อาทิ สหรัฐอเมริกา ประเทศแถบอาเซียน  ,สหภาพยุโรปและออสเตรเลีย    สินค้าส่งออกสำคัญคือ อาหารสำหรับสุนัขและแมว มีสัดส่วน86เปอร์เซ็นต์  ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยงอื่นๆ มีสัดส่วน 13 เปอร์เซ็นต์ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี55-64) ตลาดส่งออกมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง มีมูลค่าเฉลี่ย 1,522 ล้านดอลลาร์ และมีอัตราการเติบโต 13% ต่อปี