ไฟสงครามระอุ!อิสราเอล-ฮามาส ยิงจรวดโจมตีกันเดือดดับตายเลือดนองแผ่นดิน

ไฟสงครามระอุ!อิสราเอล-ฮามาส ยิงจรวดโจมตีกันเดือดดับตายเลือดนองแผ่นดิน





ad1

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ประกาศกร้าวแก้แค้นในวันแห่งความมืดมิด เพื่อตอบโต้สางแค้นกลุ่มฮามาสอย่างสาสมด้วยการระดมยิงจรวดสารพัดชนิดถล่มฉนวนกาซาทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 230 ศพ หลังจากกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ออกอาละวาดโจมตีเมืองต่างๆของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา สังหารชีวิตชาวอิสราเอลไปแล้วมากกว่า 200 ศพและหนีกลับออกไปนอกอิสราเอลพร้อมกับตัวประกัน นับเป็นวันนองเลือดที่สุดในอิสราเอล ตั้งแต่สงครามยมคิปปูร์ เมื่อ 50 ปีก่อน

สภาพเมืองในฉนวนกาซา เต็มไปด้วยโกลาหล กลุ่มควันสีดำและเปลวไฟสีส้ม ลอยพวงพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยมองจากอาคารสูงแห่งหนึ่งที่ถูกอิสราเอลโจมตีแก้แค้นอย่างบ้าคลั่ง ท่ามกลางฝูงชนที่กรีดร้อง โศกเศร้า พากันแบกศพหลายศพของนักรบที่เพิ่งถูกปลิดชีพสดๆร้อนๆไปตามท้องถนนสายต่างๆ ห่ออยู่ในธงฮามาสสีเขียว

ขณะที่กระทรวงมหาดไทยของปาเลสไตน์ ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บในกาซา ถูกหามไปยังโรงพยาบาลต่างๆที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน ซึ่งขาดแคลนอุปกรณ์และเสบียงทางการแพทย์อย่างรุนแรง มีผู้เสีชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 232 รายและได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 1,700 คน

ด้านกองทัพอิสราเอลยืนยันว่ามีชาวอิสราเอลถูกควบคุมตัวในฉนวนกาซา และทางโฆษกของกองทัพระบุอิสราเอลอาจมีการเรียกทหารกองหนุนหลายแสนนายและเตรียมพร้อมสำหรับทำสงครามในแนวหน้าทางเหนือของประเทศ กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอนด้วย

"ฮามาส"เป็นกลุ่มอิสลามิสต์ที่มีอำนาจปกครองอยู่ในดินแดนฉนวนกาซา เปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ต.ค.2566 เวลาประมาณ 06.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น (10.30 น.เวลาเมืองไทย) ด้วยการยิงจรวดหลายพันลูกเข้าไปยังดินแดนของอิสราเอล โดยเล็งเป้าหมายไปไกลจนถึงนครเทลอาวีฟ และนครเยรูซาเลม ปรากฏว่ามีบางลูกสามารถเล็ดลอดผ่านระบบป้องกันภัยทางอากาศ “ไอออน โดม” ที่มีชื่อเสียงของอิสราเอล และตกลงใส่อาคารหลายหลัง

สำหรับฉนวนกาซาถูกทำลายล้างโดยสงครามมาแล้ว 4 รอบและเหตุสู้รบประปรายอีกนับไม่ถ้วนระหว่างฮามาสกับอิสราเอล นับตั้งแต่กลุ่มนักรบเข้ายึดควบคุมฉนวนแห่งนี้ในปี 2007 แต่ฉากแห่งความรุนแรงภายในอิสราเอลนั้น ไม่ค่อยพบเห็นมากก่อนหน้านี้มากนัก แม้กระทั่งในช่วงพีคสุดของลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ ที่เรียกกันว่า "อินทิฟาดา" ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา