รมว.ยติธรรมเร่งรัดเยียวยาเหยื่อกราดยิงที่สยามพารากอน

รมว.ยติธรรมเร่งรัดเยียวยาเหยื่อกราดยิงที่สยามพารากอน





ad1

"ทวี สอดส่อง"รมว.ยุติธรรม เร่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ เยียวยาเหยื่อกราดยิงที่สยามพารากอน  วอนสังคมหยุดเผยแพร่ภาพและข้อมูลส่วนตัวผู้ต้องหา

จากกรณีเหตุระทึกยิงกลางห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในช่วงเย็นของวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ทำให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหลายราย โดยผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนอายุ 14 ปี นั้น  พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และครอบครัว ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นับเป็นการกระทำที่รุนแรงและสะเทือนขวัญของสังคม อีกทั้งผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนด้วย  จึงได้สั่งการให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เร่งให้การช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ อย่างรวดเร็ว 

สำหรับการช่วยเหลือการเยียวยา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 นั้น กรณีเสียชีวิต มีสิทธิได้รับ(1) ค่าตอบแทนกรณีถึงแก่ชีวิต  100,000  บาท (2) ค่าจัดการศพ 20,000 บาท (3) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู  40,000 บาท (4) ค่าเสียหายอื่น  40,000 บาท  ทั้งนี้ เนื่องกรณีดังกล่าว เป็นคดีอุจฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ สาธารณชน สามารถจ่ายสูงสุดตามกฎหมาย รวม 200,000 บาท

 

ส่วนกรณีบาดเจ็บ มีสิทธิได้รับ (1) ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 40,000 บาท(2) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ ร่างกายและจิตใจ ไม่เกิน 20,000 บาท (3) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่เกิน 1 ปี ในกทม. วันละ 353 บาท (4) ค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ไม่เกิน 50,000 บาท  โดยการจ่ายค่าตอบแทนฯ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจในการพิจารณาของคณะกรรมการ  ซึ่งกระทรวงยุติธรรม จะเร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือเยียวยาและการช่วยเหลือในด้านอื่นๆ อย่างเร็วที่สุด โดยการช่วยเหลือเยียวยาตามกฏหมายนี้ จะให้แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น ขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิของทุกคนที่ประสบเหตุในประเทศไทย ไม่เลือกปฏิบัติ

รมว.ยธ. เน้นย้ำว่า แม้ว่าผู้ต้องหาในคดีนี้ จะได้ก่อเหตุรุนแรงก็ตาม แต่เนื่องจากยังเป็นเยาวชน ดังนั้น จึงขอวอนสื่อมวลชนใช้ความระมัดระวังในการทำข่าว และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กและข้อมูลส่วนบุคคล  จึงขอวอนสังคม ไม่เผยแพร่ภาพบัตรประชาชนหรือรูปภาพของเยาวชนผู้ก่อเหตุ ส่วนในการสอบสวนเยาวชนที่ก่อเหตุนั้น จะต้องมีทีมสหวิชาชีพเข้าร่วมสอบปากคำด้วย เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนสากล