โครงการชลประทานศรีสะเกษแจ้งเตือนราษฎรบริเวณลำห้วยทับทันรับมือเอ่อน้ำท่วมฉับพลัน


เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2566 ที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) โครงการชลประทานศรีสะเกษ นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้ให้สัมภาษณ์สถานการณ์น้ำจังหวัดศรีสะเกษ พบว่าในภาพรวมของจังหวัดสถานการณ์น้ำยังไม่น่าเป็นห่วงในด้านอุทกภัยของราษฎร เนื่องจากอ่างเก็บน้ำ และลุ่มน้ำต่างๆในจังหวัดศรีสะเกษยังปกติ และเมื่อเทียบกับปี 2565 (มีปริมาณน้ำน้อยกว่า) ยกเว้นลำน้ำห้วยทับทัน ซึ่งมีต้นน้ำมาจากจังหวัดสุรินทร์ มีปริมาณน้ำค่อนข้างสูง จึงขอแจ้งเตือนราษฎรทั้งสองฝั่งลำห้วยทับทันให้เตรียมระวังและอาจมีน้ำท่วมฉับพลันและทำให้เกิดความเสียหายได้
จำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ
ทั้งนี้โครงการชลประทานศรีสะเกษได้วิเคราะห์ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า(อ่างเก็บน้ำ เขื่อน และ ลุ่มน้ำ)ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. การวิเคราะห์ปริมาณน้ำฝน
จังหวัดศรีสะเกษมีฝนตกเฉลี่ยในรอบ 30 ปี จำนวน 1,445.80 มิลลิเมตร ฝนจะเริ่มตกช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน และสิ้นสุดช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ปริมาณฝนที่ตกมากที่สุดคือเดือนกันยายน จะตกเฉลี่ย 278.20 มิลลิเมตร ในปี 2566 มีฝนตกมาแล้ว จำนวน1,255.10 มิลลิเมตรโดยเดือนกันยายนมีฝนตกจำนวน 192.20 มิลลิเมตร
ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกในปี 2566 อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยหรืออาจจะสูงเล็กน้อยประมาณ 1,500-1,600 มิลลิเมตร
2 การวิเคราะห์ปริมาณน้ำท่า
2.1 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 16 แห่ง
จังหวัดศรีสะเกษมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 16 แห่ง ปัจจุบันมีน้ำเกิน 100% จำนวน 9 แห่งอยู่ระหว่าง 90 ถึง 99% จำนวน 4 แห่งและน้อยกว่า 80 % จำนวน 3 แห่ง ซึ่งอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งนั้นเก็บกักได้ 208.34 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเก็บกักได้ 192.96 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 92.62% (ต่ำกว่าปี 2565 ซึ่งวันนี้จะมีน้ำจำนวน 213.27 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102.36%)
ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั้ง 16 แห่ง จะมีปริมาณน้ำอยู่ที่ระดับเก็บกัก 100% หลังจากผ่านฤดูฝนปีนี้ ทั้งนี้โครงการชลประทานศรีสะเกษได้เพิ่มการเก็บกักน้ำ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงปี 2567 ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องภัยแล้งโดยการเสริมกระสอบทรายบริเวณสปินเวย์ของอ่างเก็บน้ำทุกแห่ง เพื่อเพิ่มการเก็บน้ำ 20 ล้าน ลบ.ม
2. เขื่อนระบายน้ำจำนวน 2 แห่ง
จังหวัดศรีสะเกษมีเขื่อนขนาดใหญ่จำนวน 2 แห่ง คือ เขื้อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ปัจจุบันเขื่อนราษีไศลเก็บกักน้ำได้ 67% เขื่อนหัวนาเก็บกักน้ำได้ 123% ในภาพรวมเขื่อนทั้ง 2 แห่ง เก็บกักน้ำได้ทั้งหมด 139.44 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเก็บกักได้ 130 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 93%
3. การวิเคราะห์ลุ่มน้ำต่างๆ ได้แก่
3.1 ลุ่มน้ำมูล จากการวิเคราะห์จุดตรวจวัด M ต่างๆของลุ่มน้ำมูลระหว่างจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี มีรายละเอียดดังนี้
M 6A ( อ.สตึก จ.บุรีรัมย์) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน/ ปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 132.60/440 ลบ.ม./วินาที
M4 (อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน / ปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 262.50/550 ลบ.ม./วินาทร
M 5 ( อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษหน่อย 458.9) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน/ ปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 458.60/965 ลบ.ม./วินาที
M182(อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน / ปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 692.20/1,540 ลบ.ม./วินาที
M 7( อ.เมือง จ.อุบลราชธานี) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน/ ปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 1,880/2,300 ลบ.ม./วินาที
จากการวิเคราะห์ประมาณน้ำในลำน้ำมูลพบว่ายังสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก ระหว่างจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์และศรีสะเกษ(อัตราการระบายเมื่อเทียบกับอัตราการระบายน้ำสูงสุด จะน้อยไปมาก ตามลำดับ) ยกเว้นที่ M7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีปริมาณน้ำใกล้เคียงอัตราการระบายน้ำสูงสุด ซึ่งควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
3.2 ลุ่มน้ำในจังหวัดศรีสะเกษ จากการวิเคราะห์จุดตรวจวัดต่างๆมีละเอียดดังนี้
ลำห้วยสำราญ M9 (อ.เมืองศรีสะเกษ) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน / ปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 46.40/200 ลบ.ม./วินาที
ลำห้วยขยูง M176 (อ.กันทรารมย์) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน/ ปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 96.90/235 ลบ.ม./วินาที
ลำห้วยทับทัน M42 (อ.ห้วยทับทัน) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน / ปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 120.50 / 110 ลบ.ม./วินาที
จากการวิเคราะห์ลุ่มน้ำในจังหวัดศรีสะเกษพบว่ามีเพียงแค่ลำห้วยทับทัน M42 เท่านั้นที่ปริมาณน้ำไหลผ่านมากกว่าปริมาณน้ำสูงสุดที่ลำห้วยจะรองรับได้ เป็นเหตุอาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันกับราษฎรที่อาศัยริมตลิ่งทั้งสองด้านได้ จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ทั้งนี้โครงการชลประทานศรีสะเกษได้วิเคราะห์สถานการณ์ของลุ่มน้ำชี อีกด้วย เนื่องจากอาจมีผลกระทบกับกลุ่มน้ำมูล ได้แก่ E91(มหาสารคาม) E66A(ร้อยเอ็ด) E18(ร้อยเอ็ด) E2A(ยโสธร) และ E98 (อุบลราชธานี) พบว่า อัตราการระบายน้ำในลุ่มน้ำชีเมื่อเทียบกับอัตราการระบายน้ำสูงสุดจะน้อยไปมากเช่นเดียวกับลุ่มน้ำมูล โดยเฉพาะ E2A(ยโสธร)และ E98(อุบลราชธานี)ซึ่งอยู่ปลายน้ำก่อนที่จะบรรจบแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจมีผลกระทบกับจังหวัดศรีสะเกษในอนาคต หากมีฝนตกหนักในช่วงปลายเดือนกันยายนเหมือนปี 2565 ที่ผ่านมาจากพายุดีเปรสชัน"โนรู" ทำให้ฝนตกหนักในจังหวัดศรีสะเกษในวันที่ 28 กันยายน 2565 ทำให้มีการระบายน้ำไม่ทันและในช่วงดังกล่าวระดับน้ำในแม่น้ำมูลค่อนข้างสูง ทำให้ราษฎรได้รับผลกระทบและได้รับเสียหายเป็นจำนวนมาก
เสนาะ วรรักษ์/รายงาน