เกษตรกรเดือดร้อนหนัก จนท.แบงก์ดังเมืองน้ำดำ ยักยอกเงินกู้กทบ.30 ล้าน

เกษตรกรเดือดร้อนหนัก จนท.แบงก์ดังเมืองน้ำดำ ยักยอกเงินกู้กทบ.30 ล้าน





ad1

กาฬสินธุ์-คณะกรรมการกองทุนเงินล้านและสมาชิก กทบ.ในอำเภอกุฉินารายณ์  38 กองทุน กว่า 6,800 คน ตบเท้าแฉพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ยักยอกเงินกู้เกือบ 30 ล้าน ใช้เครื่องพิมพ์ดีดปรับสมุดบัญชีตบตา

จากกรณีชาวบ้าน สมาชิกกองทุนเงินล้าน หรือ กทบ. จำนวน 38 กองทุน สมาชิก 6,840 คน กำลังได้รับความเดือดร้อน หลังเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน สาขากุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ที่รับผิดชอบกองทุนเงินล้าน หรือ กทบ.ยักยอกเงินกู้เกือบ 30 ล้านบาท ล่าสุดผู้บริหารธนาคารดัง ระดับภาคจากขอนแก่น ลงพื้นที่รับฟังปัญหา ขณะที่แนวทางการแก้ไขปัญหา จากผู้บริหารสถาบันการเงินดังกล่าว เบื้องต้นยังไม่ชัดเจน ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุด วันที่ 1 กันยายน 2566 บรรยากาศตามที่ทำการกองทุนเงินล้าน หรือ กทบ.ในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ คณะกรรมการกองทุนและสมาชิก กทบ. ยังคงจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิด เพราะตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนมาตั้งแต่ปี 2544 สมาชิกกองทุนได้นำเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ จาก กทบ.มาประกอบอาชีพ หมุนเวียนในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะซื้อปุ๋ยบำรุงต้นข้าวที่กำลังเจริญงอกงามในแปลงนา แต่ปีนี้กลับสะดุด เพราะเงินที่ยื่นกู้กับกองทุนคนละหมื่นสองหมื่น ถูกเจ้าหน้าที่ยักยอกไป จึงไม่มีเงินซื้อปุ๋ยเคมี และหมุนเวียนในการประกอบอาชีพค้าขาย ต่างได้รับความเดือดร้อนไปตามๆ กัน

นายอนันต์ แย้มสมัย ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองแข้หมู่ 15 ในฐานะประธาน กทบ.หนองแข้ หมู่ 15 ต.จุมจัง อ.กุฉินารายณ์ กล่าวว่า ก่อนทราบเรื่องเงินถูกเจ้าหน้าที่ธนาคารยักยอกไป ตนพร้อมคณะกรรมการ กทบ.ได้นำสมุดบัญชีเงินฝากกองทุนหมู่บ้านเข้ามาตรวจสอบเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าเงินในกองทุนหมู่บ้านหนองแข้ หมู่ 15 ที่มีการฝากไว้กว่า 180,000 บาทเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว เหลือเงินในบัญชีเพียง 2,000 บาทเท่านั้น ทำให้ทุกคนรู้สึกตกใจและสงสัยว่า ทำไมเงินที่ฝากไว้หายไป จึงสอบถามเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์ได้คำตอบว่า ที่ชาวบ้านนำเงินมาฝากกับพนักงานคนดังกล่าวที่ยักยอกเงินไปนั้น ไม่ใช่พนักงานของทางธนาคาร แต่เป็นเพียงแม่บ้านของธนาคาร ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมึนงง ว่าทำไมที่ผ่านมาเวลาชาวบ้านนำเงินกองทุนไปนำฝากกับทางธนาคาร เจ้าหน้าที่ทางธนาคารจึงให้นำเงินและเอกสารไปยื่นกับแม่บ้านคนนี้ เพื่อตรวจสอบเงินและเอกสาร แต่พอเกิดเรื่องขึ้นมากลับบอกว่าแม่บ้านไม่ใช่พนักงานของทางธนาคาร ทั้งที่ทุกครั้งที่นำเงินไปฝากก็ต้องเอาเอกสารพร้อมกับเงินไปให้แม่บ้านคนนี้ตรวจสอบก่อน

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จากการตรวจดูรายการปรับสมุดบัญชี กทบ.ของแต่ละหมู่บ้านยังพบพิรุธ แทนที่จะเป็นรอยพิมพ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์เหมือนปีที่ผ่านมา กลับพบว่าตัวเลขในบัญชีพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด จึงชี้ชัดได้ว่าคนที่ยักยอกเงินไป ใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์จำนวนเงินโอนเข้าเพื่อตบตาชาวบ้าน และให้ตายใจว่าเงินเข้าบัญชีแล้ว และให้รอเบิกทีหลัง เพราะตอนนี้เงินในธนาคารยังไม่พอ พฤติกรรมดังกล่าวจึงเชื่อว่าทำเป็นขบวนการ คนๆ เดียวคงทำไม่ได้แน่นอน

ด้านนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะคณะอนุกรรมการติดตามและสนับสนุน กทบ.ระดับจังหวัด ทราบเรื่องเจ้าหน้าที่ธนาคารดังกล่าว ยักยอกเงินเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้จัดการธนาคารดังกล่าว สาขากุฉินารายณ์ ทราบว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เบื้องต้นได้แนะนำประธาน กทบ.หารือกับทางสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ หรือ สทบ. สาขา 4 (จ.ร้อยเอ็ด) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ด้วย ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะที่นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้น เบื้องต้นได้รับการรายงานจากนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ และได้รับการประสานจากผู้บริหารธนาคารส่วนกลางแล้วว่า จะมีการติดตาม สอบสวน หาผู้กระทำผิดลงโทษตามกฎหมาย ในส่วนความเสียหายต่างๆ ทางธนาคารก็จะเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบตามหลักสุจริต ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าทางธนาคารสาขาใหญ่และเขตขอนแก่น ก็จะเดินทางมาพบ เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป นอกจากนี้ยังได้กำชับพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ได้ทำความเข้าใจกับพี่น้อง ประชาชนและกรรมการ ที่มีการรวมตัวกันในลักษณะกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ต่างๆ ได้ร่วมกันสอดส่อง กำกับดูแล เพื่อเป็นการป้องกันและไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก