คณะทูตประเทศมุสลิม สัมผัสวิถีคนชายแดนใต้ ผ่านเมืองงาม 3 วัฒนธรรม

คณะทูตประเทศมุสลิม สัมผัสวิถีคนชายแดนใต้ ผ่านเมืองงาม 3 วัฒนธรรม





ad1

คณะทูตประเทศมุสลิม สัมผัสวิถีคนชายแดนใต้ ผ่านเมืองงาม 3 วัฒนธรรม กือดาจีนอ-ศาลเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว-มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 คณะทูตประเทศมุสลิม 10 ประเทศ ประกอบด้วย เอกอัครราชทูตจากประเทศมาเลเซีย คูเวต โอมาน อียิปต์ อินโดนีเซีย ตุรกี โมร็อกโก ซาอุดีอาระเบีย อุปทูตจากสถานเอกอัครราชทูตกาตาร์ และปากีสถาน มีกำหนดเดินทางเยือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยวันนี้ลงพื้นที่กือดาจีนอ ชุมชนเมืองเก่าปัตตานี และมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตคนในพื้นที่ผ่านสถาปัตยกรรมและสถานที่สำคัญ ให้เห็นถึงพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย

กือดาจีนอ ชุมชนเมืองเก่าปัตตานี เป็นพื้นที่ชุมชน 3 วิถี มีประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีน เชื้อสายมลายู และประชาชนนับถือศาสนาพุทธ อาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นชุมชนที่ได้รับฉายาว่า ปัตตานีเมืองงาม 3 วัฒนธรรม โดยมีอาคารบ้านเรือน ตึกแถวสไตล์ ชิโนโปรตุกีส ที่มีสีสันสดใส และมีอาคารเรือนไม้ ที่เรียบง่ายแต่ดูมีเสน่ห์  บ้านเรือนของชุมชนนี้ส่วนใหญ่มีอายุหลายร้อยปี อีกทั้งในอดีตยังเป็นย่านการค้าและตลาดยุคแรกๆ ของปัตตานี จึงเกิดเป็นชุมชนหัวตลาด เรียกว่า ตลาดจีน หรือ กือดาจีนอ อีกทั้ง คณะฯ ได้เข้าเยี่ยมชมศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง เป็นศาลศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองปัตตานีมาตั้งแต่สมัยโบราณอีกด้วย

ทั้งนี้ นายระห์หมัด บูดีมัน เอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซีย โดยเฉพาะจังหวัดชวาตะวันตก มีหลายอย่างที่เหมือนกันกับปาตานี อาทิ มีชุมชนมุสลิม มีศิลปะความเป็นอยู่คล้ายคลึงกัน จึงไม่รู้สึกแปลกใจมากกับสิ่งสวยงามที่มีอยู่ที่นี่ ในส่วนสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น หากมองจากกิจกรรมในวันนี้ ที่มีการรวมตัว และตัวผมเองก็กำลังวาดลายผ้าบาติกอย่างสบายใจ มีผู้คนรายล้อมมากมาย และทุกคนมีรอยยิ้มบนใบหน้าที่สดใส ถ้าดูในเวลานี้ก็มีความสงบดี 

จากนั้นคณะได้เดินทางเยี่ยมมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างจากกือดาจีนอ 1.3 กิโลเมตร เป็นมัสยิดแห่งแรกที่สร้างขึ้นจากพระราชดำริของกษัตริย์ประเทศไทย เพื่อเป็นศาสนสถานคู่เมืองปัตตานี มีรูปทรงสถาปัตยกรรมคล้ายกับทัชมาฮาลของอินเดียผสมกับวิหารแบบตะวันตก

มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี เป็นศาสนสถาน ศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ ใช้ประกอบศาสนกิจ ด้วยการละหมาด 5 เวลา รวมทั้งการละหมาดวันศุกร์ และการละหมาดในวันตรุษต่างๆ โดยในวันศุกร์และเสาร์ จะมีการบรรยายธรรม มีผู้เข้าฟังการบรรยายถึงครั้งละกว่า 3,000 คน ทั้งนี้มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2497 ตามแนวคิดในสร้างความสันติสุขและอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องชาวไทยมุสลิมในการประกอบศาสนกิจ