กรมศุลกากร สกัดจับ เฮโรอีน โคคาอีน น้ำมันดีเซล ลักลอบนำเข้าและส่งออกนอกประเทศ

กรมศุลกากร สกัดจับ เฮโรอีน โคคาอีน น้ำมันดีเซล  ลักลอบนำเข้าและส่งออกนอกประเทศ





ad1

กรมศุลกากร สกัดจับ เฮโรอีน โคคาอีน น้ำมันดีเซล
ลักลอบนำเข้าและส่งออกนอกประเทศ

วันนี้ (21 กรกฎาคม 2566) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดี
กรมศุลกากร ได้ให้ความสำคัญในภารกิจปกป้องสังคม ให้ปราศจากการลักลอบนำเข้าและส่งออก
สิ่งผิดกฎหมายและยาเสพติด จึงให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรมศุลกากร เพิ่มความเข้มงวดเป็นพิเศษในการป้องกัน สกัดกั้นยาเสพติดให้โทษ และบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ป.ป.ส. บช.ปส. ศรภ. หน่วยงานศุลกากรของไทยในต่างประเทศ ศุลกากรต่างประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่าง ๆ องค์การตำรวจสากล (Interpol) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Administration: DEA) เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าว ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือและดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 กรมศุลกากรจับกุมการลักลอบ
นำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร และเตรียมส่งออกไปนอกราชอาณาจักร มีรายละเอียดังนี้

- กรมศุลกากร ตรวจยึดเฮโรอีนน้ำหนักรวม 13.945 กิโลกรัม ปลายทางประเทศ
ออสเตรเลีย ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ของกองสืบสวนและปราบปราม ภายใต้การกำกับดูแลของนายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดี รักษาการที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร นายถวัลย์ รอดจิตต์ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม และนายจักกฤช อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับชุดปฏิบัติการ AITF (AIRPORT INTERDICTION TASK FORCE) ประกอบด้วย กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร

จึงทำการตรวจสอบพัสดุลงทะเบียนระหว่างประเทศ สำแดงชนิดสินค้าเป็น WaistBands มีชื่อผู้รับ - ผู้ส่งเดียวกัน ต้นทางมาจากเชียงใหม่ ปลายทางรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย จำนวน 40 ห่อ น้ำหนักรวม 69.379 กิโลกรัม ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีน) ชุกซ่อนภายในเข็มขัด
พยุงหลัง น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 13.945 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 41.84 ล้านบาท

ต่อมา กรมศุลกากรได้ยึดโคคาอีนน้ำหนัก 189 กรัม ต้นทางสาธารณรัฐอาเจนตินา มูลค่ากว่า 567,000 บาท ณ คลังสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบของเร่งด่วนระหว่างประเทศต้องสงสัย ว่ามีการซุกซ่อนยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร สำแดงชนิดสินค้าเป็น KEYCHAINS ต้นทางสาธารณรัฐอาเจนตินา พบยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน ในถุงพลาสติก ปิดด้วยเทปกาวสีน้ำตาล ถูกซุกซ่อนอยู่ภายในกล่องกระดาษ ซึ่งได้มีการดัดแปลงให้สามารถใส่สิ่งของดังกล่าวได้ จำนวน 2 ชิ้น น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 189 กรัม
มูลค่ากว่า 567,000 บาท

ซึ่งทั้ง 2 กรณี เป็นการกระทำผิดตามมาตรา 242 , 244 ประกอบมาตรา 252 ซึ่งเป็นของอันพึงต้องริบ ตามมาตรา 166 และ มาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 จึงส่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีต่อไป

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ( 20 กรกฎาคม 2566) กรมศุลกากรได้จับกุมการลักลอบนำน้ำมันดีเซลเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 10,000 ลิตร มูลค่ากว่า 300,000 บาท ได้ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งกรมศุลกากรได้เข้มงวดและให้ความสำคัญในเรื่องการลักลอบนำน้ำมันดีเซลเข้ามา
ในราชอาณาจักรตลอดมา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนปราบปรามเคลื่อนที่เร็ว กองสืบสวนและปราบปราม ภายใต้การกำกับดูแลของนายถวัลย์ รอดจิตต์ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ภายใต้การกำกับดูแลของนายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 และด่านศุลกากรท่าอากาศยานหาดใหญ่ เข้าตรวจค้น
ในพื้นที่ ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื่องจากได้รับแจ้งว่า อาจจะมีการลักลอบ ขนถ่ายน้ำมันดีเซล ที่ยังไม่ได้เสียภาษี หรือผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง

หลังจากที่เข้าไปในพื้นที่ พบสินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดดีเซล บรรจุอยู่ในถังขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 10 ถัง รวมจำนวน 10,000 ลิตร มูลค่ากว่า 300,000 บาท เบื้องต้นไม่มีหลักฐาน หรือเอกสารผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดง

การกระทำดังกล่าว เป็นความผิด มาตรา 242 , 246 และมาตรา 252 ซึ่งเป็นของ
อันพึงต้องริบ ตามมาตรา 166 และ มาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 จึงได้ยึดของกลางดังกล่าวเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป