ชาวพิมายกว่า 200 คนลุกฮือจี้เอาผิดคณะกก.กองทุนฌาปนกิจผู้สูงอายุ เบี้ยวไม่จ่ายค่าปลงศพ พบพิรุธบริหารไม่โปร่งใส

ชาวพิมายกว่า 200 คนลุกฮือจี้เอาผิดคณะกก.กองทุนฌาปนกิจผู้สูงอายุ เบี้ยวไม่จ่ายค่าปลงศพ พบพิรุธบริหารไม่โปร่งใส





ad1

นครราชสีมา-ชาวบ้านพิมายกว่า 200 รวมตัวเอาผิดคณะกรรมการกองทุนฌาปนกิจผู้สูงอายุ เบี้ยวไม่จ่ายค่าปลงศพ พบพิรุธบริหารไม่โปร่งใส ขณะที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอแจ้งเป็นกองทุนเถื่อนต้องยุบ แถมกรรมการกองทุนฯ โยนความผิดชาวบ้านอ้างค้างจ่ายกว่า 3 ล้านบาท เดือนร้อนหนักหวั่นสูญเงินทั้งหมด

ชาวบ้านใน ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กว่า 200 คน ที่เป็นสมาชิกกองทุนฌาปนกิจชมรมผู้สูงอายุตำบลดงใหญ่ ได้เดินทางไปที่ สภ.กระชอน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เมื่อช่วงบ่ายวานนี้(5 มีนาคม 2566) เข้าพบ พ.ต.ท. สุนันท์  เจริญจิตร สารวัตรใหญ่ สภ.กระชอน และร.ต.อ. สมคิด ไม้สูงเนิน สว.(สอบสวน) สภ.กระชอน  เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับคณะกรรมการกองทุนฌาปนกิจชมรมผู้สูงอายุตำบลดงใหญ่ จำนวน 15 คน โดยเฉพาะนางสุนันท์  พันธุ์สวัสดิ์ อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 99/1 หมู่ 5 ต.ดงใหญ่อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่องเงินของกองทุนฯ

เพราะแม้ว่านายประคอง  พูนแก้ว อายุ 74 ปี บ้านเลขที่ 283 หมู่ 10 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา จะเป็นประธานกองทุนฯ  แต่คนที่บริหารจัดการทุกอย่างคือนางสุนันท์ฯ ซึ่งชาวบ้านมองว่าบริหารจัดการไม่โปร่งใส ไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับสมาชิกที่เสียชีวิต และไม่สามารถหาหลักฐานมาชี้แจงเกี่ยวกับการทำบัญชีของกองทุนฯ ตามที่เคยตกลงกันไว้ สมาชิกกองทุนฯ จึงรวมตัวกันมาร้องขอความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยเหลือ โดยผู้สูงอายุที่มาเรียกร้องในวันนี้ ต่างพกพาอาหารมารับประทานกันด้วยเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะคาดว่า น่าจะใช้เวลานานกว่าจะหารือได้ข้อสรุป

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา  ชาวบ้านกลุ่มนี้ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฌาปนกิจชมรมผู้สูงอายุตำบลดงใหญ่  ได้รวมตัวกันมาที่ สภ.กระชอน เพื่อร้องขอความเป็นธรรมและแจ้งความดำเนินคดีกับนายประคอง  พูนแก้ว อายุ 74 ปี บ้านเลขที่ 283 หมู่ 10 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ประธานกองทุนฌาปนกิจชมรมผู้สูงอายุตำบลดงใหญ่ และกรรมการกองทุนฯอีก 2 คน คือนางสุนันท์  พันธุ์สวัสดิ์ อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 99/1 หมู่ 5 ต.ดงใหญ่อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และนายนิยม เพ็ญชอบ อายุ 71 ปี บ้านเลขที่ 79 หมู่ 7 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา  ที่บริหารจัดการเงินเรื่องเงินชดเชยให้กับญาติผู้เสียชีวิตไม่โปร่งใสและไม่ได้เงินชดเชยตามที่ตกลงกันไว้  ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญผู้ที่ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน และผู้นำหมู่บ้าน ประกอบไปด้วยกำนันตำบลดงใหญ่  ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวบ้านเข้าไปคุยถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นในห้องทำงานสารวัตรใหญ่

นายอภิรักษ์ ดีแก้ว กำนันตำบลดงใหญ่ กล่าวว่า ชาวบ้านในตำบลดงใหญ่ทั้ง 20 หมู่บ้านกว่า1 พันคน ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนฌาปนกิจชมรมผู้สูงอายุตำบลดงใหญ่มาหลายปีแล้ว บางคนเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนฯ เมื่อพ.ศ. 2536 บางคนก็ทำให้กับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพื่อหวังจะได้เงินค่าปลงศพหรือเงินชดเชยเมื่อเสียชีวิตไป ปัจจุบันต้องเสียค่าสมัครคนละ 1,000 บาท และแต่ละเดือนจะต้องจ่าย 2 ครั้ง ทุกวันที่ 15 และ 30 ของทุกเดือน ครั้งละ 100 บาท  ดังนั้นในหนึ่งเดือนจะต้องจ่ายเข้ากองทุนฯ  200 บาท เพื่อที่กองทุนฯ จะนำไปจ่ายให้กับญาติสมาชิกที่เสียชีวิตศพละ 20 บาท ไม่ว่าในแต่ละเดือนจะมีสมาชิกเสียชีวิตกี่รายก็ตาม ซึ่งจะมีตัวแทนของหมู่บ้านมาเก็บเงินกับสมาชิกเป็นประจำ แล้วนำส่งให้กับประธานและกรรมการกองทุนฯ เพื่อที่กรรมการจะนำไปมอบให้กับญาติผู้เสียชีวิต รายละ 45,000 บาทตามข้อตกลงที่ให้ไว้ ต่อมาปลายปี 2565 คณะกรรมการกองทุนฯ เริ่มไม่จ่ายเงินตามที่ตกลงไว้ บางรายได้ค่าชดเชยเพียงน้อยสุดคือห้าพันบาท และยังค้างจ่ายอีก 8 ราย ล่าสุด ได้ยินมาว่าทางคณะกรรมการจะยุบกองทุนทั้งหมดเพราะไม่มีเงินจ่ายให้สมาชิก  ทำให้สมาชิกทั้งหมดไม่พอใจเพราะสมัครเป็นสมาชิกมานาน บางคนส่งมาเป็นหลักแสน หลักหมื่น จะมายุบกองทุนแบบนี้ไม่ได้ จึงได้รวมตัวกันมาขอความช่วยเหลือจากหน้าที่ตำรวจเพื่อหาทางออกให้กับสมาชิกไม่ให้เสียเงินฟรี

ขณะที่นายประคอง  พูนแก้ว อายุ 74 ปี ประธานกองทุนฯ กล่าวว่า ตนและกรรมการชุดนี้ ได้มารับช่วงต่อจากกรรมการชุดเดิมตั้งแต่ พ.ศ.2544  ก่อนหน้านี้มีสมาชิกทั้งหมด 1,575 คน แต่ละเดือนสมาชิกจะต้องจ่ายเดือนละ 200 บาท เพื่อเป็นค่าปลงศพให้กับสมาชิกที่เสียชีวิตรายละ 20 บาท คือจะเฉลี่ยว่าเดือนละ 10 ศพ ถ้าเดือนไหนผู้เสียชีวิตไม่ถึง 10 ราย ก็จะนำเงินที่เหลือไปฝากธนาคารเข้าบัญชีกองทุนเอาไว้ ซึ่งทำแบบนี้มาเรื่อย  ต่อมา มีสมาชิกเสียชีวิตมากขึ้นเกินกว่าเดือนละ 10 ราย ทำให้ต้องไปถอนเงินในบัญชีออกมาจ่ายให้กับสมาชิกจนเงินหมดบัญชี และเก็บเงินกับสมาชิกได้ไม่ครบตามจำนวน ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยให้กับสมาชิกได้ตามข้อตกลงกันไว้ได้ จนทำให้สมาชิกลาออก เหลือแค่ 390 คน และก็พากันรวมตัวกันมาที่โรงพัก ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกำนัน ผู้นำหมู่บ้าน ร่วมกันหาข้อยุติ โดยให้ประธานและคณะกรรมการกองทุนฯ เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยให้กับญาติผู้เสียชีวิตที่ค้างจ่ายอยู่ 8 ราย เบื้องต้นจ่ายรายละ 5พันบาท  และให้ไปตรวจสอบว่า สมาชิกที่ยังเหลืออยู่มีทั้งหมดกี่คนและจะเยียวยาหรือจ่ายเงินคืนให้กับสมาชิกได้คนละเท่าไหร่ พร้อมกับให้ชี้แจงบัญชีต่างๆ ให้กับสมาชิกทราบภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งวันนั้น ก็ยังไม่ได้มีการแจ้งความหรือตั้งข้อหาใดๆ  แต่ให้คณะกรรมการฯ ทั้ง 3 คน ทำตามข้อเสนอที่ให้ไว้  ซึ่งคณะกรรมการฯ ตกลงยอมทำตามข้อเสนอ ทำให้ชาวบ้านพอใจในระดับหนึ่งแล้วแยกย้ายกันกลับไป

ล่าสุดชาวบ้านจึงมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อติดตามความคืบหน้า โดยนายยนต์ เตาสูงเนิน อายุ 75 ปี บ้านเลขที่ 64/2 หมู่ 1 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นคราชสีมา ตัวแทนชาวบ้าน เล่าว่า  เมื่อถึงวันนัดหมาย 17 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการกองทุนฯ ก็ไม่มาชี้แจงบัญชีรายรับรายจ่ายให้ทราบ โดยขอเลื่อนเป็นวันที่ 3 มีนาคม 2566 นัดให้ตัวแทนสมาชิกไปพร้อมกันที่ศูนย์ดำรงธรรม อ.พิมาย ซึ่งปรากฏว่า คณะกรรมการฯ ได้กล่าวหาว่าสมาชิกติดค้างเงินกองทุนฯ จำนวนกว่า 3 ล้านบาท ทำให้กองทุนฯ ไม่มีเงินมาจ่ายให้กับญาติของผู้เสียชีวิต  อีกทั้งทางศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ก็บอกว่า กองทุนฯ ดังกล่าว เป็นกองทุนฯ เถื่อน จะต้องให้ยุบ  แล้วมาทำใหม่ให้ถูกต้อง ทำให้สมาชิกไม่พอใจ เพราะจะไม่ได้เงินเยียวยาและไม่ได้เงินคืนที่ทุกคนเสียไป เพราะบางคนทำมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนเมื่อปี พ.ศ. 2536  จึงรวมตัวกันมาแจ้งความอีกในครั้งนี้ แต่กรรมการฯ ยังจะมาหาว่า สมาชิกติดค้างเงินจำนวน 3,154,440 บาท อีก ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะถ้ายอดเงินมากขนาดนั้น จะต้องมีคนเสียชีวิตมากถึง 157,722 คน  เพราะสมาชิกจ่ายเงินช่วยไปศพละ 20 บาท และจ่ายเป็นปกติทุกเดือน เพิ่งจะพากันหยุดส่งเมื่อปลายเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมานี่เอง โดยสมาชิกได้เก็บใบเสร็จไว้เป็นหลักฐานด้วย

ด้านนางจำเริญ  คบบุญ อายุ 58 ปี บ้านเลขที่ 13 หมู่ 10 ต.กระชอน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา หนึ่งในผู้เสียหาย เล่าว่า สมัครเป็นสมาชิกตั้งแต่ พ.ศ. 2536 คิดเป็นเงินมากมากว่า 6 หมื่นบาทที่จ่ายให้กองทุนฯ มาแล้ว   แต่ตอนนี้ ทางศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ กลับบอกว่า เป็นกองทุนเถื่อนฯ จะต้องยุบ พวกตนก็เป็นชาวบ้านธรรมดา ตาสีตาสาทั้งนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นกองทุนเถื่อน  ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม แทนที่จะได้เงินเยียวยาหรือเงินชดเชยจากคณะกรรมการบ้าง   ตอนนี้ ชาวบ้านต่างสงสัยว่า คณะกรรมการบางคน ทำไมมีเงินซื้อที่ไร่ที่นาจำนวนมาก เกรงว่า อาจจะเอาเงินของสมาชิกไปใช้จ่ายผิดประเภท จึงอยากให้ออกมาชี้แจงให้สมาชิกทราบ ไม่ใช่จะโยนความผิดให้สมาชิกแบบนี้

น.ส.ทอง  แผนพิมาย อายุ 41 ปี บ้านเลขที่ 118/1 หมู่ 20 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา  สมาชิกอีกรายที่ได้รับความเดือดร้อน บอกว่า  ล่าสุด คณะกรรมการกองทุนฯ แจ้งมาว่า มีสมาชิกทั้งหมด 2,053 คน และแยกออกมาเป็น 20 หมู่บ้าน โดยแจกแจงว่า แต่ละหมู่บ้านต้องจ่ายเงินให้กับกองทุน หมู่บ้านละหลายแสน รวมเป็นเงินทั้งหมดกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จ เพราะบางคนยังมีชีวิตอยู่ แต่กรรมการกลับแจ้งชื่อว่าเสียชีวิต เพื่อจะไปเก็บเงินกับสมาชิกอีก  ในขณะที่บางคนไม่มีตัวตนอยู่ในหมู่บ้าน ก็เอาชื่อมาใส่  สามารถตรวจสอบได้จากใบเสร็จรับเงินที่คณะกรรมการออกให้ในแต่ละเดือน  แบบนี้ถือว่าทำงานไม่โปร่งใส ให้ข้อมูลเท็จ ทำให้ชาวบ้านต้องรวมตัวกันมาแจ้งความดำเนินคดีในวันนี้

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจหลังรับแจ้งความแล้ว ได้ให้ตัวแทนแต่ละหมู่บ้านเขียนชื่อสมาชิกที่ได้รับความเดือดร้อนและนำเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่มี  มามอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เพื่อจะได้รวบรวมพยานหลักฐาน เรียกตัวคณะกรรมการกองทุนฯ ทั้ง 15 คน มาสอบสวนโดยเร็ว ซึ่งหากพบว่า มีความผิดจริง ก็จะได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป .

โดย...ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา