องคมนตรี ลงพื้นที่ศรีสะเกษวันที่สอง ดูสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ขับเคลื่อนงานโครงการพระราชดำริ

องคมนตรี ลงพื้นที่ศรีสะเกษวันที่สอง ดูสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ขับเคลื่อนงานโครงการพระราชดำริ





ad1

นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะฯ ติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ดังนี้

ติดตามการดำเนินงานการขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาจูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดกลาง เป็นโครงการที่กรมชลประทานดำเนินงานสนองพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2529 เพื่อเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนการทำการเกษตรให้กับราษฎรในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา ในเขตอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ชลประทานจำนวน 13,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลกันทรอม ตำบลโนนสูง และตำบลห้วยจันทร์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นกลุ่มบริหาร จำนวน 2 กลุ่ม มีสมาชิกจำนวน 309 คน อาสาสมัครชลประทานจำนวน 5 คน

จำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ
      
ทั้งนี้ ท่านองคมนตรี  ได้มอบพันธุ์ปลาแก่ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ พบปะราษฎรและเยี่ยมชมสภาพพื้นที่โครงการ และร่วมปล่อยพันธุ์ปลาลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยตาจูฯ

จากนั้น ได้เดินทางไปยังบ้านนายไพโรจน์ มีวงศ์ หมู่ที่ 8 ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย เดิมประกอบอาชีพล้างจานที่กรุงเทพฯ ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพ่อครัวในโรงแรม จากนั้นได้ไปทำงานต่อที่ประเทศจีน พอมีเงินเก็บเป็นทุนในการสร้างบ้าน จึงหวนกลับมาบ้านเพื่อทำการเกษตรเมื่อปี 2554 โดยทำนาและปลูกยางพารา และ กล้วยบริเวณคันนา อาศัยน้ำจากริมห้วยแต่เนื่องจากบริเวณริมห้วยเก็บน้ำไม่อยู่ ดังนั้นจึงคิดหาวิธีทำเกษตรใหม่ ในปี 2557 พอมีทุนจึงทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาจากเดิมทำนาทั้งหมดมาเป็นปลูกไม้ผล

ประกอบกับเข้าไปศึกษาดูงานจากโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากนั้นในปี 2558  สำนักงานส่งเสริมการเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 7 นครราชสีมา ส่งไปศึกษาดูงาน ณ เมืองดาว์วิน ประเทศออสเตรเลีย เกี่ยวกับการปลูกไม้ผลแปลงใหญ่ ระยะเวลา 1 สัปดาห์ ในปี 2560 จึงได้เริ่มทำการเกษตรผสมผสาน โดยแบ่งพื้นที่ทั้งหมดที่มีจำนวน 12 ไร่ แบ่งเป็นทำนา 3 ไร่ สระน้ำ 3 ไร่ ไม้ผลทุเรียน 1 ไร่ มะม่วง 3 ไร่ อีก 2 ไร่ปลูกยางนา ไผ่มะฮอกกานี และ พยุง นอกจากนี้ยังเลี้ยงโค กระบือ ไก่พื้นบ้าน และเป็ดไข่ ทำให้มีรายได้ต่อเนื่องจากการทำเกษตรผสมผสานต่อปี และเยี่ยมชมบูธผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ

โดยมี นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด(ท) รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เกษตรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำเภอขุนหาญ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดอำเภอขุนหาญ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา จิตอาสาพระราชทาน อสม. ชรบ. สื่อมวลชน และพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอขุนหาญร่วมให้การต้อนรับ และติดตามฯ    ณ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาจูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และบ้านนายไพโรจน์ มีวงศ์ หมู่ที่ 8 ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

เสนาะ วรรักษ์/รายงาน