ผงะ!หนุ่มใหญ่เมืองปราจีนบุรีพบตัวตะกองเดินเข้ามาหาถึงหน้าบ้าน


ปราจีนบุรี- หนุ่มใหญ่พบตัวตะกองเดินเข้ามาหาถึงหน้าบ้าน เผยที่ปราจีนบุรี ในอดีต พบเสมอในคลองใสใหญ่ ต.สำพันตา อ.นาดี บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่นักท่องเที่ยวล่องก่งหินเพิง
ชาวบ้านบ้านบุนอก หมู่ที่ 4 ต.ย่านรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี แจ้งว่าได้พบตัวตะกองซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเดินผ่านหน้าบ้านจึงกลับมาไว้เกรงว่าจะถูกสุนัขไล่กัดตาย หรือมีคนจะไปเพื่ออย่างอื่นจึงจับใส่กรงไว้เพื่อรอสอบถามทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือส่วนที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการช่วยเหลือต่อไป ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปยังหมู่บ้านบุนอกเพื่อสอบถามหาตัวคนที่จับตัวตะกองได้ทราบชื่อคือนายสมคิด (หำ) เจริญเกิด อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 110 หมู่ 4 ต.ย่านรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
นายสมคิดขี่รถจักรยานยนต์ นำตัวตะกองมาให้ดู พบตัวตะกองมีลักษณะคล้ายตัวอีกัวน่าหรือกิ้งก่ายักษ์ ตัวสีเขียวยาว 40 ซม.ขนาดลำตัวใหญ่ 2 นิ้ว สภาพตัวตะกองมีร่างกายสมบูรณ์ดี อยากจะให้ทางเจ้าหน้าที่นำไปไว้ในที่ที่เหมาะสม หากปล่อยไว้ที่นี่อาจจะไม่ได้รับความปลอดภัย เพราะคนใจร้าย อาจนำไปกินได้
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 ทราบว่า สัตว์ดังกล่าวชื่อตะกองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองทางเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อประสานไปยังนายสมคิดผู้ที่จับตัวตะกองไว้แล้ว เพื่อจะนำไปปล่อยสู่คืนทำธรรมชาติโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ตะกอง หรือ ลั้ง หรือ กิ้งก่ายักษ์ (อังกฤษ: Chinese water dragon; ชื่อวิทยาศาสตร์: Physignathus cocincinus) เป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่า ในวงศ์กิ้งก่า (Agamidae) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย มีรูปร่างทั่วไปคล้ายอีกัวน่าที่พบในอเมริกากลางและอเมริกาใต้
ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 90-120 เซนติเมตร (ปลายจมูกถึงโคนหาง 35-50 เซนติเมตร และหางยาว 55-70 เซนติเมตร) โดยตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ราว 10-30 เซนติเมตร และจะมีหัวป้อมกว่า สีของลำตัวเข้มกว่า หางมีแถบสีดำเป็นปล้อง ๆ สีลำตัวปกติของตะกองจะมีสีเขียวเข้มและสามารถที่จะเปลี่ยนสีของให้เข้มขึ้นหรืออ่อนลงตามสภาพแวดล้อมได้
ในขณะที่เป็นวัยอ่อนบางตัวใต้คางและส่วนหัวจะมีสีม่วงหรือสีฟ้าแลดูสวยงาม และเมื่อโตขึ้นมาตัวผู้ส่วนหัวด้านบนจะโหนกนูนขึ้นเห็นชัดเจน ส่วนตัวผู้เมียจะมีความนูนน้อยกว่าและพวกมันอาจมีอายุถึง 30 ปีเลยทีเดียว
สถานภาพของตะกองในปัจจุบัน พบน้อยลงมากเนื่องจากถูกจับเป็นสัตว์เลี้ยง จับเพื่อทำเป็นอาหาร และแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ได้จัดให้ตะกองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง[1]
พฤติกรรม มีพฤติกรรมชอบนอนผึ่งแดดตามคาคบไม้ริมห้วยลำธาร เมื่อตกใจจะวิ่ง 2 ขาได้ โดยหุบขาหน้าไว้แนบชิดลำตัว และโดยปกติเมื่อมีภัยจะกระโจนลงน้ำ และสามารถดำน้ำได้เป็นเวลานาน
อาหาร อาหารได้แก่ แมลงชนิดต่าง ๆ, กบ, เขียด, ปลาขนาดเล็ก, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก และผลไม้บางชนิด และยังสามารถดำน้ำจับปลาได้อีกด้วย
การวางไข่ ตะกองจะมีฤดูกาลผสมพันธุ์และวางไข่ในระหว่าง เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และในหนึ่งครั้งตะกองตัวเมียจะวางไข่ประมาณ 10 ฟอง ตะกองจะวางไข่ บริเวณพื้นดินที่มีลักษณะเป็นดินทรายและจะขุดหลุมลึกลงไปประมาณ 12-17 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 12-15 เซนติเมตร
ถิ่นที่อยู่ ตะกอง มีการกระจายพันธุ์ทั่วไปในป่าดิบในตอนใต้ของประเทศจีน, ประเทศลาว, เวียดนาม, กัมพูชา และภาคตะวันออกและอีสานของประเทศไทย ชอบที่จะอาศัยหากินอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์และมีสภาพป่าที่ค่อนข้างทึบ เช่น บริเวณริมห้วยที่มีน้ำไหล ที่ปราจีนบุรี พบเสมอในคลองใสใหญ่ ต.สำพันตา อ.นาดี บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่นักท่องเที่ยวล่องก่งหินเพิง
การเลี้ยง ตะกอง ยังเป็นที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงของผู้นิยมเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน แต่ว่าเมื่อเทียบกับอีกัวน่าแล้ว ตะกองเลี้ยงได้ยากกว่าพอสมควรเนื่องจากกินแมลงเป็นอาหารและยังมีนิสัยที่ดุไม่เชื่องเหมือนอีกัวน่า อีกทั้งยังต้องปรับสภาพของที่เลี้ยงให้มีน้ำและมีความชุ่มชื้นพอสมควร
มานิตย์ สนับบุญ/ปราจีนบุรี รายงาน