'ไทย-บีอาร์เอ็น' ถกดับไฟใต้จับมือขยายเวลาลดความรุนแรง เพื่อปูทางสู่การยุติเหตุรุนแรงอย่างถาวร

'ไทย-บีอาร์เอ็น' ถกดับไฟใต้จับมือขยายเวลาลดความรุนแรง เพื่อปูทางสู่การยุติเหตุรุนแรงอย่างถาวร





ad1

กัวลาลัมเปอร์,มาเลเซีย-พอใจกับการพูดคุย หลายเรื่องที่เห็นคล้ายกันอีก 2 เดือนรู้ผล ไทย-บีอาร์เอ็นจับมือขยายเวลาลดความรุนแรง เพื่อปูทางสู่การยุติเหตุรุนแรงอย่างถาวร .

วันนี้(2สค.65)ร่วมแถลงคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ นำโดย พลเอกวัลลภ รักษ์เสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฯพลโทธิรา เดหวา เลขาฯคณะพูดคุยฯ ที่บริเวณสถานทูตไทย ณ กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีเนื้อหาว่าคณะพูดคุยชุดใหญ่ของสองฝ่ายจับเข่าคุยกันสองวันที่มาเลเซีย ต่างฝ่ายต่างเสนอให้ร่วมกันลดความรุนแรงพร้อมมีมาตรการติดตามผล แต่สรุปว่ายังจะต้องใช้เวลาอีก 2 เดือนเพื่อปรับข้อเสนอให้สอดคล้องกัน เท่ากับว่าหากจะมีการตกลงลดความรุนแรงรอบใหม่ก็อาจจะเริ่มได้ไม่เร็วไปกว่าเดือนต.ค.ในขณะที่ระยะเวลานั้นมีความเป็นไปได้ระหว่าง 3 เดือนครึ่งถึง 4 เดือน ทั้งนี้จากการแถลงข่าวทางออนไลน์ของคณะพูดคุยฝ่ายไทยในค่ำวันนี้.

ส่วนในระหว่าง 2 เดือนที่ยังไม่มีข้อตกลงใดๆและถือเป็น “สูญญากาศ” ตามคำของพล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาล พล.อ.วัลลภยืนยันว่า “ทุกฝ่ายจะพยายามให้มีสันติสุขและให้เอื้อต่อบรรยากาศ” โดยพล.อ.วัลลภยอมรับว่า “สูญญากาศ” สองเดือนที่ว่านี้แน่นอนว่าจะกระทบความมั่นใจของสาธารณะ แต่ยืนยันว่าจากการที่ต่างฝ่ายต่างลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาทำให้เห็นชัดเจนว่าหากมีข้อตกลง “ความมั่นใจจะสูง” .
เรื่องการสร้างบรรยากาศในช่วงดังกล่าวนี้ พล.อ.วัลลภกล่าวว่าไม่ได้มีการคุยกันในเรื่องมาตรการ เป็นแต่เพียงการแสดงเจตนารมณ์และเป็นไปตามความสมัครใจของแต่ละฝ่าย.

การลดความรุนแรงเป็นประเด็นหลักของการหารือในช่วงสองวันนี้คือ 1-2 ส.ค.ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซีย เรื่องนี้อันที่จริงได้มีการนำเสนอโดยคณะทำงานของสองฝ่ายที่พบปะกันไปก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่แล้ว แต่คณะทำงานของไทยและบีอาร์เอ็นโยนเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเต็มคณะในหนนี้แทน ซึ่งเท่ากับว่าทั้งสองฝ่ายมีเวลาในการพิจารณาข้อเสนอนี้ล่วงหน้่ามาแล้ว .

ข้อเสนอลดความรุนแรงหนนี้จะแตกต่างจากคราวที่แล้วคือ จะเป็นข้อตกลงที่จะทำร่วมกัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างทำ และจะมีมาตรการหรือกลไกกำกับที่จะทำร่วมกันในการติดตามซึ่งที่ผ่านมาไม่มี พล.อ.วัลลภยืนยันว่า การขยายเวลาลดความรุนแรงเช่นนี้เป็นขั้นตอนต่อไปของการลดความรุนแรงที่ต้องทำทีละขั้นเพื่อขยับระดับการทำงานร่วมกัน หากได้ผลดีจึงจะยกระดับขึ้นโดยมีเป้าหมายที่การตกลงหยุดยิง .

พล.อ.วัลลภกล่าวว่าผลของการถอดบทเรียนการลดความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมานั้นเห็นกันว่า ต้องมีการวางกรอบการปฏิบัติที่ชัดเจนว่าเรื่องใดถือเป็นเรื่องของการลดความรุนแรง หรือเรื่องใดไม่ใช่ นอกจากนั้นเรื่องของการสื่อสารระหว่างสองฝ่ายยังมีปัญหา เชื่อว่าหากต่อมีมีการทำงานร่วมกันจะลดปัญหานี้ลง “การสื่อสารระหว่างฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นจะต้องใกล้ชิดมากกว่านี้” .

ในการพูดคุยเต็มคณะสองวันนี้ พล.อ.วัลลภให้ข้อมูลว่า เห็นได้ชัดว่าสองฝ่ายอยากต่อยอดการลดความรุนแรงที่ได้ทำไปแล้ว หากดูจากข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายจะพบว่ามีสิ่งตรงหรือใกล้เคียงกันหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องหลักการในกระบวนการทำงาน เช่นเนื้อหาในส่วนที่เสนอให้ลดการปิดล้อม ให้กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่นำอาวุธเข้าสู่พื้นที่ เรื่องของการจัดตั้งกลไกร่วมในการติดตามผลหรือ joint monitoring  ส่วนในเรื่องเวลา กลุ่มบีอาร์เอ็นเสนอ 4 เดือน ฝ่ายรัฐบาลไทยเสนอ 3 เดือนครึ่ง หัวหน้าคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยไม่ได้เปิดเผยว่าประเด็นที่แตกต่างในข้อเสนอสองฝ่ายนั้นมีอะไรบ้างแต่ยืนยันว่าต่างฝ่ายต่างมีเจตนารมย์ที่ชัดเจนในอันที่จะหาทางออกด้วยกระบวนการสันติภาพและต้องการให้มาตรการลดความรุนแรงได้ผลในระยะยาว 

“เราเห็นสัญญาณมุ่งมั่น ทั้งสองฝ่ายเห็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นคิดว่าทั้งสองฝ่ายจะมุ่งมั่นสร้างบรรยากาศเพื่อประโยชน์ของการพูดคุย” .

ก่อนหน้านี้กลุ่มคนพุทธในพื้นที่ได้เสนอต่อคณะพูดคุยฝ่ายไทยสองเรื่อง คือหนึ่งขอให้ทั้งสองฝ่ายตกลงขยายเวลาลดความรุนแรงโดยเฉพาะช่วงเดือนเข้าพรรษา สองคือขอให้มีการพบปะกันระหว่างตัวแทนกลุ่มคนพุทธกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ในเรื่องแรก พล.อ.วัลลภระบุว่า หากคณะทำงานสามารถพิจารณาเรื่องข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายและจัดวางกลไกได้ก็อาจจะทำให้มีการตกลงลดความรุนแรงซึ่งอาจจะกินเวลาช่วงท้ายของเดือนเข้าพรรษาก็เป็นได้ ส่วนเรื่องที่กลุ่มคนพุทธอยากให้ตัวแทนกลุ่มได้พบกับกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น มีโอกาสในช่วงที่จะเปิดให้มีการหารือสาธารณะในประเด็นเรื่องการแสวงหาทางออกทางการเมืองให้กับความขัดแย้ง แต่หากต้องการพบเฉพาะกลุ่ม เรื่องนี้จะต้องหาหนทางกันต่อไป .

ส่วนเรื่องการจัดวางกลไกเพื่อให้มีการหารือสาธารณะของทั้งไทยและบีอาร์เอ็นกับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น คณะพูดคุยฝ่ายไทยยอมรับว่า การพบปะกันหนนี้ไม่มีเวลามากพอที่จะพิจารณาเเรื่องนี้ แต่คณะทำงานของทั้งสองฝ่ายต่างมีข้อเสนอเพื่อให้แต่ละฝ่ายพิจารณาแล้ว คาดว่าประเด็นหลักที่จะให้มีการหารือสาธารณะก็คือเรื่องของการแสวงหาทางออกทางการเมิอง ส่วนตัวกลไกจะมีการพิจารณากันต่อไป แต่หลักการคือต้องรวมทุกกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปในกระบวนการนี้.
พล.อ.วัลลภเปิดเผยด้วยว่า ในวันนี้ได้รับทราบว่ารัฐบาลมาเลเซียต่อเวลาการทำงานของตันศรีอับดุลราฮีม มูฮัมหมัด นอร์ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกของการพูดคุยไปอีกหนึ่งปีคือจนถึงส.ค.ปีหน้า เท่ากับจะทำให้เกิดความต่อเนื่องไปได้ ในขณะที่ในส่วนของทีมไทยจะมีการปรับเปลี่ยนจนท.บางคนตามเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงในหน่วยงาน