"อานนท์ แสนน่าน"อัดฝ่ายค้านอภิปรายโจมตีรัฐบาลไร้ข้อมูลใหม่ งัดข้อมูลเก่ามาเล่าใหม่ ปั้นน้ำเป็นตัว

"อานนท์ แสนน่าน"อัดฝ่ายค้านอภิปรายโจมตีรัฐบาลไร้ข้อมูลใหม่ งัดข้อมูลเก่ามาเล่าใหม่ ปั้นน้ำเป็นตัว





ad1

'อานนท์ แสนน่าน' อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดง อัดฝ่ายค้านอภิปรายไร้สาระ ใช้ข้อมูลชุดเดิม ทั้งปั้นน้ำเป็นตัว แนะเปลี่ยนจากอาชีพนักการเมืองไปเป็นพนักงานโรงน้ำแข็งดีกว่า พร้อมงัดผลงานรัฐบาลตบหน้าฝ่ายค้าน
.
(21 ก.ค. 65) นายอานนท์ แสนน่าน ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดง กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ของฝ่ายค้านข้อมูลมีแต่เรื่องเดิม ๆ ไร้สาระ ปั้นน้ำเป็นตัวไม่ลืมหูลืมตาเอาข้อมูลอันเป็นเท็จมาอภิปราย สงสัยต้องให้เปลี่ยนอาชีพจากนักการเมืองไปเป็นพนักงานโรงงานน้ำแข็ง เพราะชอบปั้นน้ำเป็นตัว
.
นายอานนท์ กล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีผลงานเป็นจำนวนมากเข้าถึงประชาชน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ เชื่อว่าเลือกตั้งครั้งหน้าความนิยมจากประชาชนให้กับนายกฯลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีมากกว่าเดิม ตนจึงอยากจะนำเอาความจริงการทำงานในช่วง 7 ปีก่อน ตั้งแต่เป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งในปี 2562 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาให้ดูกันเอาเฉพาะคร่าว ๆ นะเพราะมีเยอะมาก การบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นกรอบเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาประเทศ และพยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยสรุปได้ดังนี้
.
1. สานต่อนโยบายการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 โดยการต่อยอด-ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ (First S-curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร พร้อมต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ที่เป็นแนวโน้มของโลกในอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การป้องกันประเทศ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ


.
2. โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ การลงทุนและแหล่งบ่มเพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ พัฒนาเมืองแห่งนวัตกรรม หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้เป็น “ซิลิคอนวัลเลย์” ของเมืองไทย / และ “เมืองใหม่อัจฉริยะด้วยนวัตกรรม” หรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ปัจจุบันการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามลำดับ
.
3. เตรียมความพร้อมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เกิดการลงทุนจริง ที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของ การลงทุนของภาครัฐ ในช่วงปี 2558 – 2562 ถึง 7.9% ต่อปี ดังนี้ ทางถนน : จากปี 2557 มี 4,271 กิโลเมตร และปี 2564 เพิ่มเป็น 11,583 กิโลเมตร มอเตอร์เวย์ : สร้างเพิ่ม 3 เส้นทางสำคัญ บางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี และพัทยา-มาบตาพุด ทางราง : จากปี 2557 ระยะทาง 4,073 กิโลเมตร ปัจจุบันมีแผนสร้างเพิ่ม ระยะเวลา 20 ปี จะมีระยะทาง 8,900 กิโลเมตร ครอบคลุม 62 จังหวัด เป็นทางคู่-ทางสาม 5,640 กิโลเมตร และสถานีกลางบางซื่อ เป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ ทันสมัยที่สุดในอาเซียน รถไฟฟ้า (กทม.และปริมณฑล) สร้างเพิ่ม 10 สาย ระยะทางรวม 204.9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2 สาย นอกจากนี้ ยังมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ทางน้ำ : เพิ่มศักยภาพรองรับปริมาณการขนส่งทางน้ำ จากเดิมปี 2557 ประมาณ 279 ล้านตัน ในปี 2564 เพิ่มเป็น 355 ล้านตัน โดยพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเดินเรือเฟอร์รี่พัทยา-หัวหิน ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ปีละ 4,000 ล้านบาท และทางอากาศ : ปรับปรุงสนามบินทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร จากเดิมปี 57 รองรับ 118 ล้านคน ปี 64 เพิ่มเป็น 139 ล้านคน
.
4. โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล โดยในปี 2564 ความเร็วเฉลี่ยอินเตอร์เน็ตบ้านของไทย ที่ 308 ล้านบิทต่อวินาที (Mbps) ถือว่าแรงเป็นอันดับ 1 ของโลก โครงการเน็ตหมู่บ้าน 74,987 หมู่บ้าน ทั้งประเทศ โครงการสายเคเบิ้ลใต้น้ำ ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งเป้าการเปลี่ยนแปลงสู่รัฐบาลดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ พัฒนาระบบ “พร้อมเพย์” เพื่อสนับสนุนการชำระเงินและโอนเงินแบบทันที พัฒนาระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการติดต่อขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์
.
5. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และเตรียมน้ำต้นทุน สำหรับภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้ง EEC รวมทั้งน้ำอุปโภค-บริโภค สำหรับทุกครัวเรือน การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ และโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ บริเวณถนนรัชดาภิเษก ผลลัพธ์ที่ได้รับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เพิ่มการกักเก็บน้ำรวม 1,452 ล้าน ลบ.ม. พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 124 ล้าน ลบ.ม. ลดพื้นที่ประสบภัยแล้งลงอย่างต่อเนื่อง จาก 36,944 หมู่บ้าน ในปี 2556 และในปี 2564/65 ไม่มีประกาศภัยแล้ง
.
6. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา ทั้งระดับอาชีวศึกษา เน้นเรียนจบมีงานทำ และระดับอุดมศึกษา มีการปฏิรูปการอุดมศึกษาครั้งใหญ่ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นับตั้งแต่ปี 2562 ได้วางแนวทางส่งเสริมการศึกษาแบบ Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต
.
7. การแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อเป็นแรงเสริมในการขับเคลื่อน EEC และเสริมทัพการศึกษายุคใหม่ ผลิตคนยุคใหม่ เตรียมพร้อมสำหรับโลกปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย หลังจากห่างหายมากว่า 30 ปี ความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่น เช่น การผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคและเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก เช่นเดียวกับล่าสุดในการเดินทางไปประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งมีเวทีการหารือความร่วมมือ ทั้งแบบพหุภาคีและทวิภาคี ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในเรื่องต่าง ๆ
.
8. การแก้ปัญหาวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นวิกฤติโลก โดยในช่วงเริ่มการระบาดทั่วโลกจำเป็นต้องปิดประเทศ รวมถึงประเทศไทย และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการเยียวยา ช่วยเหลือประชาชน เพื่อตั้งหลัก ประคับประคอง และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนโยบายต่างๆ ที่ออกมา ได้คำนึงถึงการสร้างความสมดุล ทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ
.
9. การรองรับผลกระทบของวิกฤตจากความขัดแย้ง ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นการเผชิญวิกฤติซ้อนวิกฤติ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 โดยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น วิกฤติพลังงาน สินค้าขาดแคลน ความยากจน เพื่อให้ประชาชนอยู่รอด อย่างพอเพียง รัฐบาลได้ดูแลประชาชน เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ 10 มาตรการ ล่าสุดรัฐบาลก็ได้เสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ มีความ ไม่แน่นอน และอาจยืดเยื้อ โดยรัฐบาลจะติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง และพร้อมที่จะปรับปรุงแนวทางการช่วยเหลือ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กับประเทศชาติ และประชาชน ในระยะต่อไป
.
10. การแก้ไขหนี้ครัวเรือน รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ครอบคลุมลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและข้าราชการ และหนี้ผู้ประกอบการ จะได้รับการผ่อนปรนลดภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
.
11. การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว ซึ่งจะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยง เข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจน ในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัว มีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือน ให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ
.
“ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะเจอกับเรื่องวิกฤติซ้อนวิกฤติ ไม่ว่าจะจากโรคโควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงเกิดความแตกแยก ทางความคิดมากมายแค่ไหนก็ตาม รัฐบาลก็ยังเดินหน้าพัฒนาประเทศ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ โครงการ EEC และการศึกษาด้วย นี้คือผลงานของรัฐบาล นายอานนท์ กล่าว
เสนาะ วรรักษ์/รายงาน
.