กฟผ. Kick off ปลูกป่าเศรษฐกิจเมืองน่าน

กฟผ. Kick off ปลูกป่าเศรษฐกิจเมืองน่าน





ad1

กฟผ. จัดกิจกรรมปลูกป่าเศรษฐกิจ จ.น่าน ภายใต้โครงการ “ปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม” สร้างความยั่งยืน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 พร้อมเดินหน้าส่งมอบห้องเรียนสีเขียว 2021 ให้กับกลุ่มโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ฯ จำนวน 15 โรงเรียน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนอย่างยั่งยืน

โดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกันเป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off ปลูกป่าเศรษฐกิจในโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายในการจัดการปัญหาด้านคุณภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศรวมถึงเพิ่มการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีนายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายชิดชนก สุขมงคล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้บริหาร กฟผ. หน่วยงานราชการ หน่วยงานพันธมิตร นักเรียน นักศึกษา และชุมชนกว่า 200 คน เข้าร่วมกิจกรรม ณ บ้านพงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน มีนโยบายในการยกระดับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 - 2070  โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมจึงเป็นโครงการสำคัญที่สนองนโยบายดังกล่าว และนำมาปฏิบัติได้อย่างทันท่วงที สามารถสร้างประโยชน์ในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน ช่วยชดเชยการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินงานต้องอาศัยความร่วมมือและการรวมพลังกันของทุกภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องผนึกกำลังและแสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศ เพื่ออนาคตของประเทศไทยและคนไทยทุกคน

ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร  ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. เป็นโครงการที่สนองนโยบายรัฐบาล โดยมีเป้าหมายปลูกป่า จำนวน 1,000,000 ไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ในระหว่างปี พ.ศ. 2565-2574 โดยได้ดำเนินการปลูกป่าทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจและป่าชายเลน เพื่อดูดซับและกักเก็บคาร์บอนมากกว่า 1.2 ล้านตัน CO2 ต่อปี และคาดว่าตลอดระยะเวลาโครงการฯ จะสามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งสิ้นประมาณ 23.6 ล้านตัน CO2 และ กฟผ. ยังได้วางแนวทางการดูแลและบำรุงรักษาป่าอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2583 ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและพันธมิตร เพื่อตรวจติดตามอัตราการรอดตาย และอัตราการเติบโตของกล้าไม้ร่วมกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการตรวจติดตาม 

สำหรับการปลูกป่าที่จังหวัดน่านในครั้งนี้ เป็นป่าเศรษฐกิจมีจำนวน 19 ไร่ ที่บ้านพงษ์ อำเภอสันติสุข โดยก่อนหน้านี้ กฟผ. ได้ร่วมมือกับพันธมิตร ดำเนินการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่จังหวัดน่าน มาตั้งแต่ ปี 2537-2561 ทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน รวม 105,800 ไร่ ครอบคลุม 12 อำเภอ สามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ตัน CO2  

นอกจากกิจกรรมปลูกป่าแล้วในวันนี้ ปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ส่งมอบห้องเรียนสีเขียวสำหรับโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร จำนวน 15 โรงเรียน ให้นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ โรงเรียนราชปิโยรสา ยุพราชานุสรณ์ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เพื่อร่วมสร้างพลังเยาวชนให้มีองค์ความรู้เป็นผู้นำด้านอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งชุมชนห้องเรียนสีเขียวและขยายผลไปยังครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรอบ พร้อมจัดทำตารางแผนกิจกรรมเครือข่ายห้องเรียนสีเขียวอย่างเป็นระบบผ่านประสบการณ์ในพื้นที่จริง (On-site) และการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Learning) ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังโรงเรียนอื่นได้ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน

 ระรินธร  เพ็ชรเจริญ ผู้สื่อข่าวจังหวัดน่าน