เชื่อว่าแท้ง!! ร่างแก้ไขรธน.ฉบับภาคประชาชนที่จะเข้าถกร่วมรัฐสภาวันที่ 16 พ.ย. ตัดสว.ทิ้ง - 3 สว.ดาหน้าฉะ ลั่นสภาเดี่ยวไม่เหมาะกับไทย เป็นฉบับปฏิวัติไม่ใช่ปฏิรูป

เชื่อว่าแท้ง!ร่างรแก้ไขรธน.ฉบับประชาชน

เชื่อว่าแท้ง!! ร่างแก้ไขรธน.ฉบับภาคประชาชนที่จะเข้าถกร่วมรัฐสภาวันที่ 16 พ.ย. ตัดสว.ทิ้ง - 3 สว.ดาหน้าฉะ ลั่นสภาเดี่ยวไม่เหมาะกับไทย เป็นฉบับปฏิวัติไม่ใช่ปฏิรูป





ad1

14 พ.ย. 2564  ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนที่จะเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 16 พฤศจิกายน ก่อนจะมีการลงมติช่วงเช้าของวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้  จะนำบางส่วนที่สำคัญขึ้นมาโดยสังเขปดังนี้


ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอให้ยกเลิกหมวด 7 รัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และเขียนหมวด 7 ขึ้นใหม่ทั้งหมวด ชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎร

ให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ไม่ปรากฏคำว่า “วุฒิสภา” หรือ ส.ว. อีกแล้วในร่างฉบับนี้ เท่ากับเป็นการเสนอการปกครองรูปแบบ “สภาเดี่ยว” และให้สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยยังคงมีจำนวน ส.ส. 500 คน ซึ่ง 350 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และ 150 คน มาจากการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ

สำหรับระบบการเลือกตั้งและวิธีการคำนวณที่นั่งของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งคุณสมบัติของผู้สมัครเป็น ส.ส.นั้น เสนอไว้ “เหมือนเดิม” คือ ไม่ได้แก้ไขให้เปลี่ยนแปลงไปจากที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้

เนื่องจากไม่มี ส.ว.แล้ว ดังนั้น อำนาจหน้าที่เดิมที่เคยต้องให้ ส.ว. เป็นผู้ตัดสินใจจึงต้องเปลี่ยนให้เป็นอำนาจของ ส.ส.เพียงสภาเดียว
อำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจของ ส.ส.อยู่แล้ว เป็นเช่นนี้มานานแล้วในประวัติศาสตร์

อำนาจพิจารณา และลงมติเพื่อออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญไทยส่วนใหญ่ให้มีการกลั่นกรองสองชั้น โดยสองสภา แต่เมื่อเสนอให้เป็นสภาเดี่ยวก็จึงให้เป็นอำนาจของ ส.ส.ฝ่ายเดียว

อำนาจพิจารณา และลงมติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจของ ส.ส. แต่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของ ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

อำนาจพิจารณาและเห็นชอบผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ให้เป็นอำนาจของ ส.ส. 2 ใน 3 ของ ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และมีโควต้าให้คนที่ถูกเสนอชื่อโดยฝ่ายค้านและรัฐบาล

ส่วนอำนาจพิเศษอื่นๆ ที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น การติดตามและกำกับดูแลการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ และแผนการปฏิรูปประเทศของ คสช. หรือการร่วมกับ ส.ส. พิจารณาและลงมติออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ก็จะถูกยกเลิกไปทั้งหมด

ร่าง รธน.ฉบับประชาชน ยังคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของ “ที่มานายกฯ” กำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกินพรรคละสามรายชื่อ และให้ประกาศต่อประชาชนก่อนการเลือกตั้ง เป็นระบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2560
ร่างฉบับประชาชนยังได้นำเสนอระบบใหม่ ที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยการตรวจสอบตุลาการ กำหนดไว้ในมาตรา 193/1 ว่า ตุลาการที่มีตำแหน่งระดับสูง ได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด อาจถูกถอดถอนได้ถ้ามีเหตุดังต่อไปนี้

1) มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ

2) ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

3) ส่อว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย

กระบวนการถอดถอน ตามมาตรา 193/2 เริ่มได้สองช่องทาง คือ ส.ส.เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 หรือ 125 คน หรือประชาชนเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 20,000 คน และยื่นเรื่องให้ประธานสภา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติโดยอาศัยเสียง 3 ใน 5 ของ ส.ส.ทั้งหมด หรือประมาณ 300 คน เพื่อเสนอเรื่องไปยัง “องค์คณะพิจารณาถอดถอน”

องค์คณะพิจารณาถอดถอน ประกอบไปด้วย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด อย่างละ 1 คน ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาล 2 คน และ ส.ส.จากฝ่ายค้าน 2 คน หากองค์คณะพิจารณาถอดถอนลงมติด้วยเสียงมากกว่าครึ่งให้ถอดถอน ตุลาการที่ถูกกล่าวหาก็พ้นจากตำแหน่ง

แต่หากองค์คณะพิจารณาถอดถอนลงมติว่า “ไม่ถอดถอน” ก็ให้ส่งเรื่องกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง และถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยเสียง 3 ใน 4 ของ ส.ส.ทั้งหมด หรือประมาณ 375 คน ก็สามารถถอดถอนตุลาการที่ถูกกล่าวหาได้
ร่างฉบับนี้ได้เสนอให้ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ของ คสช. และยกเลิกหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ แต่นำเสนอหมวด 16 แบบใหม่ ชื่อว่า “การลบล้างผลพวงรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และการป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร”

โดยให้ยกเลิก มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่นิรโทษกรรมให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยกเลิกมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่นิรโทษกรรมให้กับ คสช.ไว้ก่อนหน้านี้ โดยเขียนให้ “เป็นโมฆะ เสียเปล่า เสมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลใดๆ ในทางรัฐธรรมนูญและกฎหมาย”

การเขียนเช่นนี้ มีเจตนาเพื่อให้สามารถเอาผิดย้อนหลังกับการทำรัฐประหารที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และเคยนิรโทษกรรมไปแล้วได้

ร่างฉบับนี้ มาตรา 258 กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านการรัฐประหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีสิทธิและหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างประจักษ์ชัด และมีหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะทหารหรือคณะบุคคลใดที่ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ

นอกจากนี้ มาตรา 259 กำหนดห้ามไม่ให้ศาลทั้งปวง วินิจฉัยหรือพิพากษารับรองความสำเร็จสมบูรณ์ของการรัฐประหาร หรือรับรองสถานะทางกฎหมายให้แก่คณะรัฐประหาร ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรัฐประหาร

นวัตกรรมสำคัญที่ร่างเสนอไว้ คือ มาตรา 261 ที่เขียนว่า “บทบัญญัติในหมวดนี้มีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญและหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีผลใช้บังคับโดยตลอด แม้รัฐธรรมนูญนี้จะสิ้นผลไป”

“กฎหมายจารีตประเพณี” หมายถึง แนวคิดหรือหลักการที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน จนทุกคนในสังคมเข้าใจตรงกันว่า เป็นกฎหมาย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้

การเขียนมาตรา 261 เช่นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันว่า การต่อต้านการรัฐประหาร การไม่ยอมรับคำสั่งของคณะรัฐประหาร และการดำเนินการเพื่อเอาผิดคณะรัฐประหารจะต้องเป็นหลักการพื้นฐานของสังคม หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคตและคณะรัฐประหารสั่ง “ยกเลิก” รัฐธรรมนูญในหมวดนี้ หลักการเหล่านี้ก็ยังคงมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดใช้บังคับได้ต่อไป

ความเห็นของสว.ต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

“เสรี” ชี้เนื้อหาเปิดช่องแทรกแซงองค์กรอิสระ-ศาล "กิตติศักดิ์" ลั่นไม่ใช่ปฏิรูปแต่เป็นปฏิวัติ "สภาเดี่ยว" ไม่เหมาะกับไทย "วันชัย"ค้านหัวชนฝา เหน็บฉบับ "ล้ม-โละ-เลิก"นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน ว่า 
จะให้ ส.ว.แสดงความคิดเห็น มุมมองต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ส่วนการลงมติโหวตวาระแรกในวันที่ 17 พ.ย. 2564 จะให้เป็นดุลยพินิจของ ส.ว.แต่ละคนในการลงมติ ส่วนตัวดูแล้วมีโอกาสผ่านยาก เพราะเนื้อหาที่เสนอแก้ไขเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง รัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง องค์กรอิสระ และยังเปิดช่องให้แทรกแซงการทำงานของศาล และองค์กรอิสระได้

“ฝ่ายที่เสนอมารู้อยู่แก่ใจว่า โอกาสไม่ผ่านมีสูง แต่ยังเสนอเข้ามา เพื่อใช้สร้างความชอบธรรมในการเรียกมวลชนว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนถูกปฏิเสธโดยรัฐสภา ต้องการให้รัฐสภาถูกเข้าใจผิดจากประชาชน ทั้งที่รัฐสภาไม่มีเจตนาเช่นนั้น แต่รัฐสภาพร้อมให้ความสำคัญและรับฟังเสียงประชาชน แต่ข้อเสนอเป็นปัญหาจริง ๆ ถึงขั้นทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่มีข้อยุติ ยิ่งทำให้สร้างความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถรับร่างได้” นายเสรี กล่าว

ด้านนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ขอฟันธง 100% ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะไม่ผ่านวาระรับหลักการจากรัฐสภา ไม่มี ส.ว.ให้ความเห็นชอบเกิน 1 ใน 3 หรือ 84 คนแน่นอน เนื้อหาที่เสนอแก้ไขไม่เรียกว่า "ปฏิรูป" แต่เป็นการ "ปฏิวัติ" เพราะเป็นการแก้ไขทั้งโครงสร้างรัฐสภา ศาล และองค์กรอิสระให้เอาตามที่ฝ่ายตนเองต้องการ โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้เหลือเพียงแค่สภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ทำให้ขาดการถ่วงดุล ซึ่งส.ว.ไม่ติดใจที่เสนอให้ยกเลิกวุฒิสภา เพราะ ส.ว.อยู่ตามรัฐธรรมนูญอีกแค่ 2 ปีกว่า ก็จะหมดหน้าที่แล้ว

“แต่กังวลอนาคตประเทศ ถ้าเหลือแค่สภาเดียว ไม่เหมาะสมกับประเทศไทยแน่ ยิ่งไปแก้โครงสร้างศาล องค์กรอิสระเพิ่ม ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ถ้าอ้างรายชื่อประชาชน 100,000 คน สนับสนุนร่างแก้ไขฉบับนี้ ขอให้ดูความเห็น 16 ล้านคนที่ให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย อย่างไรก็ตาม เราให้ความสำคัญกับประชาชนหลักแสนคนที่เสนอให้แก้ไข แต่ถ้าหลักการที่เสนอมาไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ต่อให้มีรายชื่อมากเท่าไร ก็ให้ผ่านไม่ได้” นายกิตติศักดิ์ กล่าว

นายกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา จะไม่เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง มีการชุมนุมมากขึ้น เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ระบุไว้ชัด จะเคลื่อนไหวในลักษณะหมิ่นเหม่ไม่ได้ หลังจากนี้ฝ่ายการเมืองต้องคิดว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรเป็นที่สิ้นสุด หากยังไปสนับสนุนการเคลื่อนไหวต้องพิจารณาจะได้คุ้มเสียหรือไม่ อาจถูกยุบพรรคได้ ข้อหาล้มล้างการปกครอง การเป็นกบฏมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต

"วันชัย"ค้านหัวชนฝา เหน็บฉบับ "ล้ม-โละ-เลิก"

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ส.ว.จะได้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือกันในวันที่ 15 พ.ย. 2564 โดย ส.ว.ส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะฟังจากกระแสเสียงแล้ว แม้แต่สภาผู้แทนราษฎรเองส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าไม่รับ จะมีรับก็พรรคการเมืองบางพรรคเท่านั้น

นายวันชัย กล่าวว่า เท่าที่ดูหลักการและเหตุผลในร่างดังกล่าวแล้วก็คงไม่รับ ซึ่งตนไม่ได้มองแค่เรื่องยกเลิกส.ว.อย่างเดียว เวลาเรามอง เราตัดประเด็นนี้ออกมา เพราะห่วงว่า ประชาชนจะมองว่า เรามีจิตใจลำเอียง แต่เราถือว่า ร่างฉบับนี้เป็นฉบับที่ล้ม โล๊ะ เลิก หรือฉบับปฏิวัติ เสมือนหนึ่งว่า ขออำนาจมายกเลิกองค์กรต่างๆ ทำโดยต้องสรรหาในสภาฯ ผู้แทนฯเป็นองค์กรเดียวที่ใหญ่ในแผ่นดิน โดยไม่คำนึงถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ทำให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงได้ ทั้งอำนาจในกองทัพ อำนาจในองค์กรอิสระ อำนาจในศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจในตุลาการ นั่นหมายความว่าการแบ่งแยกอำนาจนั้นจบโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากลของประชาธิปไตย ฉะนั้นพิจารณาเรื่องเดียวก็เห็นว่าไม่ควรให้ผ่าน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการไม่ให้มีส.ว.

“จึงเห็นได้ว่าผู้ที่เสนอร่างนี้ก็รู้อยู่แล้วว่าเสนอมาก็คงไม่ผ่านอยู่แล้ว เราเชื่อเหลือเกินว่า ส.ส.ก็ไม่รับ ส.ว.ก็ไม่รับ แต่คนเสนอคงต้องการแสดงสัญลักษณ์หรือแสดงจุดยืนเท่านั้นเอง ฉะนั้นร่างนี้จึงไม่ตื่นเต้น เร้าใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร จึงเป็นเรื่องของการแสดงวาทกรรมในสภาฯ เท่านั้นเอง” นายวันชัย กล่าว

เมื่อถามว่า หากร่างนี้ไม่ผ่านมองว่าจะมีการปลุกกระแสความรุนแรงหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตนไม่มองว่าเป็นเรื่องของการปลุกกระแสอะไร เพราะเรื่องปลุกกระแสมีมาโดยตลอด ซึ่งตนเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาแรงกว่าเสียอีก จึงเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับไม่ผ่านสภาฯ ก็ไม่มีการลุกฮือแต่อย่างใด เพราะไม่ได้ต่างจากการปราศรัยในทุกครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นส.ว.ไม่มีอะไรที่ต้องเตรียมเพียงแต่ต้องทำความเข้าใจให้สมาชิกได้รับรู้ รวมถึงกำชับเรื่ององค์ประชุมและวันโหวต แต่เนื้อหามองดูแล้วไม่มีอะไรผ่าน

ขอบคุณที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_3039223
      : https://www.bangkokbiznews.com/news/971673