เผยแพร่ : 9 ม.ค.2564
The Lancet Planetary Health เผยผลวิจัยมลพิษทางอากาศ ทำหญิงเอเชียใต้มีอัตราแท้งสูง
วารสาร The Lancet Planetary Health ระบุว่า ผลวิจัยครั้งใหม่พบว่า มลพิษจากฝุ่นละอองในอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศอาจอยู่เบื้องหลังทารกเสียชีวิตในครรภ์และการแท้งบุตรหลายแสนคนต่อปี
ดร.เทา ซู่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลการสำรวจสุขภาพและครัวเรือนตั้งแต่ปี 2541-2559 จากผู้หญิงในอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศที่สูญเสียการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งครั้งและการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง ผู้หญิงในเอเชียใต้มีอัตราการสูญเสียการตั้งครรภ์สูงที่สุด และเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีมลพิษ PM 2.5 มากที่สุดในโลก คุณภาพอากาศที่ไม่ดีอาจเป็นสาเหตุของการสูญเสียการตั้งครรภ์ในภูมิภาคนี้
ทั้งนี้ PM 2.5 ประกอบด้วยอนุภาคขนาดเล็กมากในอากาศที่เป็นพิษ มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ปัญหาระบบทางเดินหายใจ หัวใจ และพัฒนาการทางสมองในเด็ก พัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์มารดา และมลพิษอย่างคาร์บอนมอนอกไซด์ยังมีส่วนเกี่ยวกับทารกการเสียชีวิตในครรภ์และการแท้งที่เกิดขึ้นเอง
นอกจากนี้ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรยังเพิ่มโอกาสในการแท้งอีก 3% ผู้หญิงสูงอายุในชนบทหรือหญิงสาวจากเมืองใหญ่มีความเสี่ยงมากที่สุด นักวิจัยยังคาดว่าตั้งแต่ปี 2543-2559 การสูญเสียการตั้งครรภ์ 349,681 ครั้ง เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศที่เกินมาตรฐานของอินเดีย นับเป็น 7% ของการแท้งทั้งหมดในภูมิภาคในช่วงเวลานั้น นอกจากนี้ยังพบว่ามลพิษทางอากาศของอินเดียส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1.67 ล้านคนในปี 2562 ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในโลก